สกุลเงินดิจิทัลของจีนอาจทำให้ 'หยวน' กลายเป็นสกุลเงินหลักของโลก แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลจากรัฐบาลกลาง
ธนาคารกลางจีนออกมาประกาศความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล หรือ 'คริปโทเคอร์เรนซี' โดย 'มู ฉางชุน' รองผู้อำนวยการด้านการชำระเงินของธนาคารกลางจีน กล่าวว่า สถานะปัจจุบันของสกุลเงินดิจิทัลนี้ "ใกล้เสร็จสมบูรณ์" แล้ว
ตามข้อมูลจากรายงาน สกุลเงินดิจิทัลของจีนจะดำเนินการอยู่บน 'ระบบ 2 ชั้น' ซึ่งทั้งธนาคารกลางจีนและธนาคารพาณิชย์ของจีนเป็นผู้ผลิตเงินอย่างถูกกฎหมาย นอกจากนี้ สกุลเงินนี้จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่มีความกระจายอำนาจเป็นหลักอย่างสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ แต่จะอยู่บนระบบที่ให้อำนาจการควบคุมระบบการเงินกับรัฐบาลจีน
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็ออกมาตั้งข้อสังเกตกับสกุลเงินดิจิทัลของจีน โดย 'มาติ กรีนสแปน' นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสจาก อีโทโร กล่าวว่า ตนยังมองไม่เห็นประโยชน์จากการเปลี่ยนระบบการเงินของจีน จากระบบปัจจุบันไปเป็นสกุลเงินดิจิทัลเท่าไหร่นัก และตั้งข้อสังเกตว่านี้อาจจะเป็นนโยบายแอบแฝงหรือไม่ เพราะเขาเชื่อว่ามันคือคนละเรื่องกับ คริปโทเคอร์เรนซีที่เรารู้จักกัน
หลายฝ่ายเชื่อว่าการที่จีนเร่งพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง หลังจากที่เคยมีท่าทีไม่สนุบสนุน มีเหตุผลส่วนหนึ่งจากการที่เฟซบุ๊กออกมาประกาศผลักดัน 'ลิบรา' สกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก ซึ่งสร้างความกังวลให้กับธนาคารกลางทั่วโลกรวมทั้งของจีนด้วย ทั้งยังออกมาบอกว่า 'ลิบรา' ตั้งเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลและตรวจสอบของธนาคารกลางเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างชาติและปกป้องอำนาจนโยบายการเงินของภาครัฐ
ส่วนการใช้งานนั้น ผู้บริโภคและภาคธุรกิจจำเป็นต้องดาวน์โหลดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในโทรศัพท์ จากนั้นจึงเปลี่ยนจากเงินหยวนในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งการรับเงินและการจ่ายเงิน ซึ่งธนาคารกลางของจีนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมการเงินทุกครั้งที่เงินถูกเปลี่ยนมือ
ด้าน‘เจเรมี อัลแลร์’ ซีอีโอของเซอร์เคิล ผู้ให้บริการคริปโทเคอร์เรนซีในสหรัฐฯ กล่าวว่า การปล่อยสกุลเงินดิจิทัลของจีนมีประโยชน์หลายประการกับประเทศ แต่ประโยชน์มากที่สุดคือการเปิดโอกาสให้เงินหยวนกระจายตัวไปทั่วโลก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเป็นสากลให้กับสกุลเงิน ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามผลักดันให้ต่างประเทศหันมาใช้สกุลเงินหยวนของรัฐบาล และนี่จะกลายเป็นกลไกที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกใช้เงินหยวนในชีวิตประจำวัน
ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ระบุว่าปัจจุบันนี้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นเงินตราที่ใช้เป็นทุนสำรองของโลก (reserve currency) โดยกว่าร้อยละ 58 ของการทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่รูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และกว่าร้อยละ 40 ของหนี้ทั่วโลกก็อยู่ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
‘มู่ ฉางชุน’ รองผู้อำนวยการฝ่ายการชำระเงินของ PBOC กล่าวว่า สกุลเงินดิจิทัลของจีนจะมีความคล้ายคลึงกับสกุลเงินลิบราของเฟซบุ๊ก และยังมีความปลอดภัยในระดับเดียวกับธนบัตรเงินหยวนที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ แต่สิ่งที่สะดวกมากขึ้นคือสกุลเงินดิจิทัลจะสามารถใช้ได้บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น วีแชท และใช้ได้แม้จะไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ตาม
อย่างไรก็ตาม อัลแลร์ ก็ออกมาพูดถึงความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบจากการใช้สกุลเงินดิจิทัลของจีนเช่นกัน เพราะรัฐบาลจีนจะสามารถเข้ามาตรวจสอบทุกธุรกรรมทางการเงินที่ผ่านสกุลเงินดิจิทัลได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นข้อดีในการป้องกันการโกงและการฟอกเงิน แต่ก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนมากเกินไป