ไม่พบผลการค้นหา
The Toppick - วิจัยตลาดชี้ 'ความเป็นไทย' ไม่ดีเท่าที่คนไทยคิด - FULL EP.
The Toppick - ผู้นำไอเอสตาย แต่กลุ่มไอเอสยังอยู่ - Short Clip
The Toppick - วิจัยตลาดชี้ 'ความเป็นไทย' ไม่ดีเท่าที่คนไทยคิด - Short Clip
The Toppick - ระวัง ‘สตอล์เคอร์แวร์’ ซอฟต์แวร์ติดตามแฟน - Short Clip
The Toppick - เยอรมนีเตรียมแบน 'ไกลโฟเซต' ภายในปี 2023 - Short Clip
The Toppick - ไวน์สตีนโดนฉะกลางงานส่งเสริมศิลปินในนิวยอร์ก - Short Clip
The Toppick - ‘โจ๊กเกอร์’ กลายเป็นหนังเรต R ที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาล - Short Clip
The Toppick - นิวซีเเลนด์ประกาศจะเก็บภาษีก๊าซคาร์บอนฯ หากเกษตรกรไม่ปรับพฤติกรรม - FULL EP.
The Toppick - ไทยห้าม 'ผู้ลี้ภัยการเมือง' กัมพูชาเข้าประเทศ - Short Clip
The Toppick - 'เกาหลีใต้' จ่อยกเลิกสถานะ 'ประเทศกำลังพัฒนา' ของ WTO - Short Clip
More
Programs
The Toppick
Sep 2, 2019

ทำนายเทรนด์โลก ถอดรหัสอนาคต ด้วยทิศทางที่แม่นยำ กับรายการ The Toppick ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 07.00น. ทางวอยซ์ทีวี

The Toppick - 'เกรตา ธันเบิร์ก' จะคุยกับทรัมป์เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือไม่? - Short Clip
Sep 2, 2019 20:08

หนึ่งในผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ คือ 'เกรตา ธันเบิร์ก' สาวน้อยวัย 16 ย่าง 17 ปี ชาวสวีเดน ผู้รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและสภาวะโลกร้อน ล่าสุด เธอได้เดินทางถึงสหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมเข้าร่วมการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติอีกด้วย

เกรตา ธันเบิร์ก ล่องเรือยอตช์พลังงานไฟฟ้ามายังนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เพื่อแสดงจุดยืนเรื่องการเดินทางที่ประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยเธอใช้เวลา 15 วันจึงเดินทางมาถึงที่หมายอย่างปลอดภัยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และชาวอเมริกันจำนวนมากที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของเธอก็มารวมตัวกันชูป้ายต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยบางคนระบุว่าเธอเป็น 'ผู้กล้าหาญ' ที่ลุกขึ้นมารณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ช่วงปีที่ผ่านมา 'เกรตา ธันเบิร์ก' ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และนิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ ก็โหวตให้เธอเป็นผู้นำของคนยุคใหม่ เป็นผลจากที่เธอเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ โดยเธอเริ่มต้นจากการทำแคมเปญประหยัดพลังงานในโรงเรียน และเริ่มจริงจังกับการเคลื่อนไหวด้านนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นหยุดเรียนไป 'ประท้วงเดี่ยว' หน้ารัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่เธอมองว่าเป็นต้นตอให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การเคลื่อนไหวของเกรตาในช่วงแรกไม่ได้รับการสนใจจากสื่อกระแสหลักมากนัก จนกระทั่งเธอปักหลักประท้วงอยู่นานถึง 3 สัปดาห์ ทำให้มีผู้ยกย่องเธอในเรื่องของความมุ่งมั่นจริงจัง และเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศก็หันมาสนับสนุนเธอในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เธอได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปีที่แล้ว และสุนทรพจน์ของเธอที่เรียกร้องให้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และให้เริ่มลงมือปฏิบัติในด้านต่างๆ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุนทรพจน์ที่จับใจคนฟังอย่างมากอีกด้วย

ครอบครัวของเกรตาส่งเสริมให้เธอเคลื่อนไหวด้านนี้อย่างจริงจัง เธอจึงเลือกจะหยุดเรียนเป็นเวลา 1 ปีเพื่อไปรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดก็คือการประกาศว่าจะเดินทางด้วยเรือยอตช์มายังสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมกับสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ในวันที่ 24 ถึง 25 กันยายนนี้ และสื่อจำนวนมากคาดหวังว่าเธอจะได้พบกับ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อโน้มน้าวให้เขาเปลี่ยนความคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน หลังจากที่ทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐฯ จากการเป็นภาคีของสหประชาชาติในเรื่องนี้ไปแล้วตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า 'ไม่เชื่อ' เรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งยังสนับสนุนให้สหรัฐฯ ดำเนินอุตสาหกรรมพลังงานถ่านหินต่อไป โดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของนานาประเทศที่ระบุว่า พลังงานถ่านหินเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยทรัมป์ระบุว่า ข้อมูลนี้เป็นเรื่องหลอกลวง และเป็นแผนสกัดการเติบโตของอุตสาหกรรมถ่านหินของสหรัฐฯ

เมื่อมีผู้ถามเกรตาว่าเธอจะโน้มน้าวทรัมป์ให้หันมาตระหนักเรื่องโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เธอก็ตอบว่า ถ้าไม่มีใครทำให้ทรัมป์เข้าใจได้ว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศกำลังเข้าขั้นวิกฤต และเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างมาก เธอก็คงไม่สามารถโน้มน้าวให้เขาเชื่อได้เช่นกัน

สิ่งที่เธอต้องทำต่อไปจึงไม่ใช่การพูดคุยกับทรัมป์ แต่คือการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นกับสังคมในวงกว้างมากกว่า แต่เธอก็ระบุว่า อยากให้ทรัมป์เชื่อในวิทยาศาสตร์และหลักฐานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมากกว่าความคิดของตัวเอง พร้อมกับทิ้งท้ายว่า "ปัญหาสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศ เป็นวิกฤตใหญ่ระดับโลก และเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดที่มนุษยชาติเคยเผชิญหน้า ถ้าเราไม่ร่วมมือกันหาทางแก้ไข และไม่ก้าวข้ามความคิดเห็นที่ขัดแย้ง เราก็คงจะต้องเจอกับความล้มเหลว


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog