ทำนายเทรนด์โลก ถอดรหัสอนาคต ด้วยทิศทางที่แม่นยำ กับรายการ The Toppick ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 07.00น. ทางวอยซ์ทีวี
ระบบประมวลผลเอไอ ชี้การเป็นจุดหมายปลายทาง-แหล่งชอปปิง-เมืองท่องเที่ยวของไทย แพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะ 'คนไทย' ส่วนหนึ่งมองว่าทุกอย่างยังดีอยู่ ชี้ 'เจนเอ็กซ์' กลายเป็นวัยที่สุขที่สุด
ภาคธุรกิจเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี และหนึ่งในวิธีที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ในการกระตุ้นบริษัทคือการทำวิจัยทางการตลาดเพื่อให้ทราบสถานการณ์แท้จริงที่บริษัทต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตาม 'เดฟ แม็คคอเกน' ที่ปรึกษาด้านวิจัยทางการตลาด จากไบบลิโอเซ็กชวล ชี้ให้เห็นว่า วิจัยเสียงสะท้อนความคิดเห็นของผู้บริโภคอาจไม่ได้ให้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงของสถานการณ์ทางการตลาดมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคแต่ละคนอาจถูกสื่อหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมีอิทธิพลเหนือการตอบแบบสอบถามในขณะนั้นโดยไม่รู้ตัว นักวิจัยบางกลุ่มจึงใช้เครื่องมือใหม่ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เพื่อสะท้อนสถานการณ์แท้จริงของตลาดแทน
'ไทย' ในโลกความเป็นจริง
ผลลัพธ์เมื่อนำระบบดังกล่าวว่ามาวิเคราะห์ข้อมูลที่สะท้อนปัจจัยในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของประเทศ (national branding) พบว่า ปัจจัยด้านการเป็นจุดหมายปลายทางถูกวางไว้ในอันดับที่หนึ่งด้วยคะแนน 0.96 จุด ตามมาด้วยการเป็นสถานที่เพื่อการชอปปิง 0.93 คะแนน และการเป็นแหล่งท่องเที่ยว 0.82 คะแนน ขณะที่ปัจจัยด้านรัฐบาลถูกจัดไว้ในอันดับที่ 7 จากทั้งหมด 10 ปัจจัยสำคัญ
นอกจากนี้ ระบบยังวิเคราะห์เปรียบเทียบคะแนนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม โดยพบว่า ปัจจัยส่งเสริมภาคธุรกิจของประเทศไทยทั้ง การเป็นจุดหมายปลายทาง การเป็นแหล่งชอปปิง และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแพ้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ขณะที่คะแนนด้านรัฐบาลออกมาในเชิงลบใกล้เคียงกันทุกประเทศ
การวิเคราะห์โดยระบบเอไอเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลรวมถึงบทความทุกชิ้นที่มีอยู่บนโลกออนไลน์และหาค่าเฉลี่ยออกมาเป็นกราฟ โดยกราฟสีเขียวแสดงถึงความเห็นในเชิงบวก สีแดงในเชิงลบ และสีน้ำเงินในเชิงความคาดหวัง
ในมิติของการเป็นประเทศจุดหมายปลายทาง ไทยมีผลออกมาเป็นสีน้ำเงินใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านในสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไทยกลับมีผลลัพธ์ในส่วนสีแดงมากกว่าประเทศอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความกังวลและความหวาดกลัวเกี่ยวกับประเทศไทยค่อนข้างมาก
คล้ายคลึงกันในสถานการณ์การชอปปิง จากกราฟประเทศไทยมีผลลัพธ์ในสีเขียวค่อนข้างมาก แต่ประเทศเพื่อนบ้านกลับมีสีผลลัพธ์สีเขียวที่เข้มกว่าซึ่งสะท้อนถึงมุมมองในแง่ดีที่มากกว่า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับมีผลลัพธ์สีแดงมากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังมีผลลัพธ์มีน้ำเงินในสัดส่วนที่สูง ซึ่ง 'เดฟ' ตีความออกมาว่า นักท่องเที่ยวหลายคนที่มาไทยอาจมองว่าประเทศไทยสวย "แต่ก็ไม่ได้สวยเท่าที่หวังไว้"
ในส่วนของภาครัฐบาล ทั้ง 5 ประเทศมีผลลัพธ์ด้วยกราฟสีแดงเป็นหลัก ซึ่ง 'เดฟ' กล่าวว่าเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากรัฐบาลของทุกประเทศไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่ายได้อย่างที่เราเข้าใจกัน
เจนเอ็กซ์สุขที่สุด
แม้จะมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข่าวที่สะท้อนการตกต่ำของทั้งภาคการท่องเที่ยวรวมทั้งการส่งออก แต่ 'เดฟ' กล่าวว่า คนไทยส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนเจนเอ็กซ์กลับยังมีความเชื่อว่าทุกอย่างยังไม่แย่มากนัก สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งมาจากคนในยุคนี้ใช้ชีวิตผ่านประสบการณ์ที่เคยได้รับ
'เจโรม เฮอวิโอ' หุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัทวิจัยทางการตลาดสเตมินา กล่าวว่า เจนเอ็กซ์ในประเทศไทย หรือคนที่มีอายุระหว่าง 40 - 55 ปี ในปัจจุบัน นับเป็นกลุ่มประชากรที่มีความสุขที่สุด
เสวนาการตลาด BCCT
ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชากรไทยเจนเอ็กซ์จำนวน 800 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งจัดทำโดยบริษัทมาร์เก็ตบัซ พบว่า ร้อยละ 68 ของกลุ่มตัวอย่างมีความสุขดีกับชีวิต
ขณะที่ร้อยละ 18 ตอบว่ามีความสุขมาก จากแบบสำรวจดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ตอบว่าชีวิตไม่มีความสุข
'เจโรม' กล่าวเพิ่มว่า ประชากรเจนเอ็กซ์ของไทยได้เปรียบประชากรเจนอื่นเนื่องจากเติบโตขึ้นมาในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดี จึงทำให้คนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดี
ตามข้อมูลจากธนาคารโลกประชากรเจนเอ็กซ์เกิดขึ้นมาในยุคที่ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวราว 200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือประมาณ 6,000 บาทต่อปี เท่านั้นในปี 2513 อย่างไรก็ตาม รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยในปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 6,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณ 196,000 บาทต่อปี ในปี 2560
'เดฟ' กล่าวปิดท้ายว่า การอยู่ในโลกฟองสบู่ของประชากรเป็นการปิดตาคนเหล่านั้นจากโลกของความเป็นจริง ยิ่งการใช้ประสบการณ์ในอดีตเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจสถานการณ์ในปัจจุบันยิ่งทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดพลาดได้มากขึ้น แต่การขับเคลื่อนธุรกิจจำเป็นต้องอยู่กับโลกของความเป็นจริง