รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมเก็บภาษีคาร์บอนในทุกภาคส่วนแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยสิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำนโยบายนี้มาใช้ เพื่อลดภาวะเรือนกระจกและรักษาสิ่งแวดล้อม
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ เฮง สวี เกียต ประกาศเตรียมเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2019 ซึ่งจะเก็บกับผู้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เกินมาตรฐานที่กำหนด คือมากกว่า 25,000 ตันต่อปี โดยจะเก็บเพิ่มตันละ 20-30 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 240-300 บาท ซึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่ามาตรฐานมีอยู่ประมาณ 30-40 บริษัท ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่น และบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือสารกึ่งตัวนำ ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม
คาดการณ์ว่าภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์ จะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น โดยรัฐบาลคาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีคาร์บอนได้ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 2 หมื่น 3 พันล้านบาท ในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งรัฐบาลจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในโครงการที่ส่งเสริมการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากก๊าซคาร์บอนแล้ว การเก็บภาษีดังกล่าวยังรวมไปถึงการปล่อยก๊าซมีเทน, ไนตรัสออกไซต์ ,ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน , เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน และซัลเฟอร์ เฮกซาฟลูออไรด์อีกด้วย
การคิดภาษีคาร์บอนเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลหลายประเทศนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหามลพิษ โดยปัจจุบันมีประมาณ 67 ประเทศที่บังคับใช้หรือเตรียมประกาศใช้มาตรการดังกล่าว รวมถึงจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และจากข้อมูลของสำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA ระบุว่า สิงคโปร์ติดอันดับ 26 จาก 142 ประเทศในด้านของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากร 1 คน เนื่องจากเป็นประเทศที่เล็กและมีประชากรหนาแน่น