รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2563
“ประยุทธ์” เตรียมรับมือให้ดี! หลัง ส.อ.ท. ชี้ แรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีกว่า 7.5 แสนคน ทยอยตกงานหลังพิษโควิด กระทบเศรษฐกิจ คนไม่ซื้อ-ส่งออกหด
นักวิเคราะห์ Talking Thailand มองอย่าอ้าง “โควิด” เพราะผู้ผลิตย้านฐานการผลิตไปที่อื่น แถมตั้งแต่รัฐประหารทำกำลังซื้อหด แถมยังนโยบาย “รถยนต์ไฟฟ้า” ก็ไม่ชัดเจน ทั้งที่เป็นเทรนด์มาแรงของโลก
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบต่อยอดการจำหน่ายและผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและส่งออก ชะลอตัวลง กระทบต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ (ซัพพลายเชน) ทั้งผู้ผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์ และตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ทั้งหมดมีแรงงานรวมกว่า 7.5 แสนคน และพบว่าค่ายรถยนต์ในประเทศกำลังปรับตัว ลดพนักงานให้สอดรับการผลิต จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งไทยและทั่วโลกว่าจะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด
“ยอดจำหน่ายลดลงค่อนข้างมาก จนค่ายรถยนต์ปิดไลน์การผลิตไปช่วงเม.ย.ทั้งเดือน และพ.ค.-มิ.ย. ประกาศกลับมาผลิตบางส่วน สอดรับกับที่รัฐผ่อนคลายล็อคดาวน์เฟส 2 แต่มองว่ากำลังซื้อคงไม่ได้เพิ่มมาก การส่งออกก็เช่นกัน ประกอบกับหากโรงงานจะกลับมาผลิตต้องเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 ทำให้อัตรากำลังการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้น เหล่านี้ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งเกินความจำเป็น ค่ายรถและชิ้นส่วนจึงตัดสินใจเลิกจ้าง เป้าหมายแรกคือ กลุ่มพนักงานสัญญาจ้างหรือซับคอนแทรกท์ก่อน จากนั้นคงเป็นเรื่องสมัครใจออก และลดคนส่วนอื่นๆตามมา แต่ยังคงพยายามรักษาแรงงานระดับฝีมือเอาไว้”
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มรถยนต์ส.อ.ท.ได้ประเมินไว้ว่าหากโควิด-19 ยืดเยื้อถึงเดือนมิถุนายน จะกระทบต่อการผลิตรถยนต์จากเป้าหมายเดิมปี 2563 คือ 1.9 ล้านคัน เหลือเพียง 1.4 ล้านคัน และหากยืดเยื้อถึงกันยายน-ตุลาคม จะเหลือเพียง 1 ล้านคันเท่านั้น หรือหายไปกว่า 50% แรงงานจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดอยู่ที่โควิด-19 ส่วนภาพรวมยอดจำหน่ายในประเทศและการส่งออกในเดือนเมษายนยังลดลงต่อเนื่องซึ่งการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยที่ผ่านมาพึ่งพิงตลาดส่งออกถึง 54%
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มรถยนต์ ส.อ.ท.ได้เสนอแนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อคลัสเตอร์รถยนต์ รักษาระดับการจ้างงานในให้มากที่สุด ต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญได้แก่ เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ที่นำรถเก่าที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีประมาณ 2 ล้านคันมาแลกเพื่อซื้อรถใหม่ โดยรัฐจ่ายเงินส่วนต่างจำนวนหนึ่ง แนวทางนี้ไม่เพียงกระตุ้นยอดขายแต่ยังช่วยลดปัญหามลพิษ พีเอ็ม 2.5 ลงไปด้วย เช่นเดียวกับที่ประเทศสหรัฐและประเทศเยอรมนีใช้เคยใช้ฟื้นหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐผ่อนคลายด้วยการยืดเวลาชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะครบการจ่ายในเดือนสิงหาคมนี้ออกไปอีก 1 ปี เพื่อนำเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนการใช้จ่ายซึ่ง รวมถึงคงรักษาระดับพนักงานเอาไว้ ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะทำให้ไทยยังเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และช่วยดึงการลงทุนเพิ่มเติม เพราะผลจากการปิดเมืองทั่วโลกกระทบสายการผลิต ทำให้หลายประเทศเตรียมย้ายฐานออกจากจีนโดยเฉพาะญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนเมษายนอย่างไม่เป็นทางการทรุดหนัก ทำยอดขายได้แค่ 33,300 คันเท่านั้น คาดว่าเป็นการตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ตลาดส่งออกลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสูง ทำให้ค่ายรถที่มีฐานผลิตในไทยเริ่มปรับนโยบายด้านคนแล้ว อาทิ ค่ายรถยนต์ฟอร์ด และมาสด้า มีนโยบายลดคนพร้อมจ่ายชดเชยตามกฏหมายแรงงานและหันไปใช้เอาต์ซอร์ซแทน ขณะที่มิตซูบิชิ เปิดโครงการสมัครใจลาออก นิสสันตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับพนักงานสัญญาจ้าง 300 คนจาก 1,900 คนเพื่อดูความชัดเจน
โดยเศรษฐกิจไตรมาส 1/63 (ม.ค.-มี.ค.) ต้องจับตาที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงในวันที่ 18 พ.ค.นี้ คาดว่าจะไม่ดีนัก ที่สำคัญตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก มี เดือน มี.ค.เพียงเดือนเดียวที่ถูกกระทบจากโควิด-19 // ขณะที่ไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) คาดว่าจะถูกกระทบเต็มๆ และรุนแรงมาก จึงต้องทำใจว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะไม่ดี ที่รับผลจากการปิดเมือง