เชื่อว่าหลายบ้านกำลังประสบปัญหาลูกไม่ยอมปล่อยมือถือ ติดโซเชียลมีเดียและเกมส์ตั้งแต่อายุยังน้อย ล่าสุด กสทช.ร่วมกับ 3 สถานบันการแพทย์ชั้นนำของไทย คิดค้นแอปพลิเคชั่นเพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้มือถือของบุตรหลาน มาดูกันว่าแอปฯนี้มีหน้าตาและฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างไรบ้าง
แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “Net Care” ถูกคิดค้นโดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับสถานบันทางการแพทย์ 3 แห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยเล็งเห็นปัญหาที่เกิดจากเด็กเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากเกินไป และเด็กไม่สามารถบังคับจิตใจตัวเองได้ ว่าควรจะต้องใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตมากน้อยแค่ไหน ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ซึมเศร้า แยกตัวเอง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่มีสังคม ตลอดจนไม่มีการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ขณะที่ระยะยาว ทำให้เกิดอารมณ์ร้อนได้ง่ายขึ้นด้วย
ซึ่งแอปพลิเคชั่น Net care จะช่วยให้เด็กลดการใช้อุปกรณ์สื่อสารน้อยลง ภายใต้เงื่อนไขที่แต่ละครอบครัวกำหนดเอง เพราะพ่อแม่สามารถควบคุมการเล่นอินเตอร์เน็ตของลูก โดยสั่งการแอปพลิเคชั่นนี้ที่ติดตั้งในมือถือของพ่อแม่ได้เลย
สำหรับการใช้งาน ถูกออกแบบมาให้ง่ายต่อการใช้งานไม่ซับซ้อนจนเกินไป โดยเริ่มจากดาวน์โหลดแอป Net care ไว้ในทั้งเครื่องลูกและพ่อแม่ , ทำการกรอกข้อมูล และสแกน QR Code เพื่อล็อกอินเข้าสู่ระบบการดูแล
ส่วนฟังก์ชั่น จะมีอยู่ 4 ฟังก์ชั่นหลักๆ คือ
ฟังก์ชั่นที่ 1. กำหนดระยะเวลาการใช้งาน สามารถตั้งจำนวนชั่วโมงที่ต้องการให้ใช้งานได้ในแต่ละวัน เช่น วันจันทร์ถึงศุกร์ ใช้ได้ 2 ชั่วโมง วันหยุดหรือเสาร์อาทิตย์ ใช้ได้ 3 ชั่วโมง
ฟังก์ชั่นที่ 2. กำหนดช่วงเวลาการใช้งาน สามารถระบุช่วงเวลาที่ให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ เช่น ระหว่าง 1 ทุ่มถึง 2 ทุ่ม
ฟังก์ชั่นที่ 3. พักการใช้งานบางแอปพลิเคชั่น เช่น ต้องการปิดยูทูป แต่เปิดเว็บไซต์ หรือกูเกิลเพื่อใช้ค้นหาข้อมูลได้ และ ฟังก์ชั่นสุดท้าย พักการใช้งานอินเทอร์เน็ตทันที
นอกจากนี้ ยังมีปุ่ม SOS ที่เครื่องของลูกไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพียงกดปุ่มดังกล่าว สัญญาณโทรเข้าจะปรากฏที่เครื่องของพ่อแม่ พร้อมแจ้งโลเคชั่นของลูกด้วย
ด้าน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยจุดสังเกตง่ายๆ 3 ข้อ ที่ประเมินว่าเด็กเข้าข่ายติดเกมแล้วหรือไม่ คือ
1. สังเกตว่าเด็กหมกหมุ่นกับโทรศัพท์มือถือมากน้อยแค่ไหน
2. เด็กสูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเองหรือไม่
3. การใช้มือถือของเด็กส่งผลกระทบในด้านลบหรือไม่ เช่น สายตาสั้น ไม่ออกกำลังกาย หรือเลิกทำงานอดิเรกอื่นๆ โดยสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ การเข้าไปควบคุมการใช้งานในลักษณะเป็นมิตร ไม่ใช่การดุด่าหรือบังคับ
รองเลขาธิการ กสทช.ย้ำอีกว่า ในปีงบประมาณหน้า เตรียมขยายการใช้งานไปยังโรงเรียน เพื่อให้ครูอาจารย์สามารถควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กนักเรียนได้ รวมถึงขยายไปยังสมาร์ททีวี เพื่อให้พฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดียของเด็กไทยถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม