ดีป้าเผยประเทศไทยน่าลงอุตสาหกรรมดิจิทัลมากกว่าต่างประเทศ รวมถึงมีข่าวดีสำหรับเอสเอ็มอี เพราะมีการเตรียมเสนอให้รัฐบาลขยายอายุลดหย่อนภาษีซอฟแวร์ 200% อีก 3 ปี เพื่อสร้างศักยภาพให้กับเอสเอ็มอีไทย
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของไทยกับต่างประเทศ เพื่อปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น
ผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยและต่างประเทศนิยมใช้มาตรการให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนภายใต้วัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ประเทศไทยมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ดีกว่าต่างประเทศ ทั้งในด้านระยะเวลาการยกเว้นภาษี และอัตราการลดหย่อนภาษี สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการทางภาษีของไทยมีความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนค่อนข้างสูง เหมาะแก่การลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล
ถึงอย่างไร ก็มีบางมาตรการที่ดำเนินการในต่างประเทศ แต่ยังไม่พบในประเทศไทย เช่น การให้เครดิตภาษีเพื่อการวิจัยและพัฒนา การยกเว้นภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการจ้างงานและค่าเช่า
ซึ่งจากผลการศึกษาดังกล่าว สามารถสรุปเป็นข้อเสนอได้ 4 ประเด็น คือ
1. การสร้างอุปสงค์ให้เพียงพอในการชักจูงนักลงทุน
2. ศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ระบบดิจิทัล
3. สนามทดสอบธุรกิจดิจิทัล
4. กองทุนร่วมทุนสำหรับเอสเอ็มอี เพื่อลงทุนในพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ดีป้า ยังเตรียมเสนอให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษี 200% สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ซื้อหรือให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากนักพัฒนาที่ขึ้นทะเบียนกับดีป้า เพิ่มอีก 3 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2565 รวมถึงปรับวงเงินสูงสุดที่สามารถยกเว้นภาษีได้จาก 1 แสนบาท เป็น 3 แสนบาท เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ สร้างศักยภาพในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย