แอร์บัสแถลงยุติการผลิตเครื่องบินแอร์บัส A380 สาเหตุเพราะยอดการสั่งซื้อลดลง ส่งผลให้พนักงานสายการผลิตกว่า 3,500 คน อาจตกงาน
‘แอร์บัส’ บริษัทผลิตเครื่องบินเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสประกาศจะยุติการผลิตเครื่องบินรุ่น A380 และจะยุติการส่งมอบเครื่องบินรุ่นดังกล่าวให้สายการบินที่สั่งซื้อภายในปี 2021 โดยนายทอม เอ็นเดอร์ส ซีอีโอของบริษัทแอร์บัส ระบุว่า เครื่องบินซูเปอร์จัมโบ้ A380 เป็นเครื่องบินที่คนทั่วโลกชื่นชอบ ทั้งในขนาดที่ใหญ่โตโอ่โถง และความสะดวกสบายที่ได้รับ นั่นจึงทำให้การตัดสินใจนี้เป็นการตัดสินใจที่ ‘แสนเจ็บปวด’
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่าทางบริษัทแอร์บัสนั้นพึ่งพาลูกค้าเจ้าใหญ่รายเดียวมากจนเกินไป โดยสายการบินเอมิเรตส์ของตะวันออกกลางคือลูกค้าคนสำคัญที่สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A380 อย่างต่อเนื่อง แต่ล่าสุดเอมิเรตส์เปลี่ยนแผน และลดการสั่งซื้อเครื่อง A380 จาก 162 ลำ เหลือเพียง 123 ลำ โดยหันไปสั่งซื้อเครื่องบินขนาดเล็กกว่าอย่างแอร์บัส A330 และ แอร์บัส A350 แทน ทำให้ทางบริษัทต้องเจอกับภาวะการสั่งซื้อที่ลดลง และไม่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้
ในช่วงแรกหลังจากปี 2008 เป็นต้นมา บริษัทแอร์บัสสร้างรายได้มหาศาลจากการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องบิน A380 โดยมีลูกค้าสำคัญคือบริษัทสายการบินในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้โดยสาร ซึ่งมีแนวโน้มการใช้บริการสูงขึ้นในทุก ๆ ปี แต่หลังจากนั้นไม่นานยอดการสั่งซื้อเครื่องบินซูเปอร์จัมโบ้รุ่นนี้ก็เริ่มมาถึงจุดอิ่มตัวในปี 2014 ก่อนจะประสบภาวะยอดสั่งซื้อลดลงในกรณีล่าสุดที่สายการบินเอมิเรตส์ลดการสั่งซื้อลง 39 ลำต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2019
อย่างไรก็ตาม นอกจากตัวเลขของรายได้และกำไรของบริษัทที่จะลดลงแล้ว การประกาศแผนยุติผลิตเครื่องบินรุ่น A380 ของแอร์บัสในครั้งนี้สร้างความกังวลใจอย่างมากให้กับหลายฝ่าย เนื่องจากจะส่งผลให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องบินรุ่นดังกล่าวประมาณ 3,000 - 3,500 คน ต้องเสี่ยงที่จะตกงาน อย่างไรก็ตาม แอร์บัสกล่าวว่า จะย้ายคนงานไปอยู่ในภาคการผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินรุ่นอื่นต่อไป
พนักงานของบริษัทแอร์บัสกล่าวกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ สำนักข่าวแรกที่เปิดเผยเรื่องนี้ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พวกเขาเริ่มได้ได้กระแสข่าวของการยุติการผลิตเรื่องบิน A380 มาสักพักใหญ่แล้ว ซึ่งเมื่อมีการประกาศออกมาจริง ก็ทำให้พนักงานหลายคนรู้สึกเศร้าใจและใจหายกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะนี่คือการบอกลาความยิ่งใหญ่อีกครั้งของวงการการบิน หลังจากที่มีการยุติการให้บริการเครื่องบินคองคอร์ด เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงแบบแรกและแบบเดียวในโลกที่ทำการบินเที่ยวสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ปี 2000
เครื่องบินแอร์บัส A380 เป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่พิเศษที่มีราคาต่อลำสูงถึงลำละ 445 ล้านดอลลาร์ หรือราว 13,928 ล้านบาท โดยเครื่อง A380 สามารถบรรจุเก้าอี้ที่นั่งของผู้โดยสารได้อย่างน้อย 544 ที่นั่ง ในรูปแบบมาตรฐานปกติของการจัดวางที่นั่งในเครื่องบิน ขณะที่ สายการบินเอมิเรตส์ ผู้ครอบครองเครื่องบินแอร์บัส A380 มากที่สุดในโลกนั้นสามารถบรรจุที่นั่งของผู้โดยสารสูงสุด 600 ที่นั่ง
ด้วยปัจจัยด้านราคาที่สูงมากนี้เอง ทำให้เป็นที่รู้กันดีว่าแม้เครื่องบินแอร์บัส A380 จะเป็นอากาศยานที่ยิ่งใหญ่หรูหราและสวยงามถูกใจผู้โดยสารแค่ไหนก็ตาม ในแง่มุมของการดำเนินธุรกิจกลับถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับทุกสายการบิน ที่ตัดสินใจทุ่มเงินจำนวนมหาศาลนี้ไปกับการซื้อเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมาอยู่ในครอบครองของบริษัท เพราะหลายครั้งที่มีการทำการบินจะพบว่ามีที่นั่งว่างอยู่จำนวนมากในเที่ยวบิน ซึ่งนั่นทำให้หลายต่อหลายครั้งสายการบินไม่สามารถทำกำไรจากเที่ยวบินที่ใช้เครื่อง A380
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่พุ่นสูงขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ นั่นยิ่งทำให้โอกาสในการทำกำไรจากเครื่อง A380 น้อยลงไปอีก และยิ่งยุคนี้คือยุคที่ประชาชนทุกประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญต่อเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมกันอย่างมาก การเดินทางด้วยเครื่องบินหรือยานพาหนะใดก็ตามที่พึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ยิ่งกลายเป็นหนทางในการเพิ่มมลพิษให้กับชั้นบรรยากาศมากขึ้นไปอีก
ด้วยเหตุนี้เอง หลายสายการบินจึงหันไปใช้เครื่องบินรุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าและประหยัดพลังงานกว่า ทั้งจากบริษัทแอร์บัสเอง รวมไปถึงคู่แข่งจากฝั่งสหรัฐฯ อย่างโบอิงด้วย โดยเฉพาะเครื่องบินรุ่น 787 ดรีมไลน์เนอร์ ที่ดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จกว่ามากด้วยซ้ำ
บีบีซียังระบุอีกด้วยว่า อีกหนึ่งข่าวฉาวใหญ่ที่สร้างผลกระทบทางลบให้กับบริษัทแอร์บัส ก็คือเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมาองค์การการค้าโลก หรือ WTO ได้มีคำสั่งตัดสินว่า สหภาพยุโรปไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องให้ยุติการช่วยเหลือของภาครัฐแก่บริษัทแอร์บัส สร้างความตึงเครียดให้กับสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ อย่างมาก
ทำให้ล่าสุดในเดือนมกราคมของ 2019 ที่ผ่านมานี้ บริษัทแอร์บัสมีคำสั่งซื้อเครื่องบิน A380 แล้วทั้งสิ้น 313 ลำ และทำการส่งมอบให้ลูกค้าแล้ว 234 ลำ แม้ว่าทางบริษัทจะตั้งเป้าจำหน่ายเครื่องบินแอร์บัส A380 ไว้ที่ 700 ลำก็ตาม
ทั้งนี้ โครงการเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่พิเศษของแอร์บัส A380 นี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1994 โดยเปิดตัวลำแรกเมื่อปี 2005 และหลังจากนั้นในปี 2007 สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้รับมอบและใช้เครื่องบินรุ่นนี้ทำการบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในเส้นทางบินระหว่างสิงคโปร์และเมืองซิดนีย์ของออสเตรเลีย
ภายในตัวเครื่องมีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 500 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กว้างขวางอย่างมาก ประกอบกับการมีพื้นที่ถึง 2 ชั้น ทำให้นอกจากที่นั่งผู้โดยสารในคลาสต่าง ๆ แล้ว เครื่องบินรุ่น A380 ยังสามารถแบ่งพื้นที่ใช้สอยบางส่วนไปเป็นบาร์ขนาดใหญ่ ร้านเสริมสวย และร้านขายสินค้าปลอดภาษีอีกด้วย ทำให้หลายคนเรียกเครื่องบินรุ่นนี้ว่าเป็นเสมือนโรงแรมลอยฟ้าเลยทีเดียว