สื่อใหญ่วิเคราะห์สถานการณ์เทสลา หลังอีลอน มัสก์ ประกาศว่ากำลังพิจารณาเตรียมถอนบริษัท 'เทสลา' ออกจากตลาดหลักทรัพย์ที่มูลค่าสูงถึง 420 ดอลลาร์ต่อหุ้น จนหลายฝ่ายออกมาคัดค้านเพราะการกระทำดังกล่าวมีแต่จะสร้างหนี้เพิ่มให้กับบริษัท
เว็บไซต์ CNN Money ลงบทวิเคราะห์อย่างเจาะลึกเกี่ยวกับกรณีที่นายอีลอน มัสก์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา ผู้นำด้านเทคโนโลยีและรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ทวีตข้อความบนบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาตามเวลาของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า เขากำลังพิจารณานำบริษัทเทสลาออกจากตลาดหุ้น โดยหลายคนต่างตั้งคำถามว่าเขาจะทำได้จริงหรือไม่ และการจะทำได้จริงนั้น นายมัสก์จะต้องทำอะไรเป็นอันดับแรก
CNN Money ได้ตอบไว้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่นายมัสก์และบริษัทเทสลาจะต้องทำนั้นก็คือ การซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจากนักลงทุน เพื่อยุติสภาพจากการเป็นบริษัทมหาชนให้กลับมาเป็นบริษัทเอกชน หรือแบบ Private แทน โดยการซื้อหุ้นคืนที่ราคา 420 ดอลลาร์ หรือราว 14,000 บาทต่อหุ้น เป็นการซื้อคืนในอัตราที่สูงกว่าราคาหุ้นจริงของวันพุธที่ผ่านมาถึง 12 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว โดยเขายืนยันในทวิตเตอร์ว่าได้เตรียมเงินทุนไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้แล้ว
การที่นายมัสก์ยืนยันว่าได้เตรียมเงินไว้พร้อมสำหรับการซื้อหุ้นคืนก็ถือเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอย่างมาก แต่สิ่งที่ทุกคนตั้งคำถามในขณะนี้ก็คือใครคือเจ้าของเงินทุนดังกล่าวกันแน่ ซึ่งข่าวที่น่าจะเป็นได้มากที่สุดมาจากการรายงานของเว็บไซต์ The Financial Times ที่ระบุว่านายมัสก์ได้มีการเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่ของซาอุดีอาราเบีย และนักลงทุนกลุ่มนี้จะทำการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทเทสลาราว 3-5 เปอร์เซ็นต์ หรือหากคิดเป็นจำนวนเงินก็จะอยู่ที่ 1,900 - 3,100 ล้านดอลลาร์ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันออกมาจากทางคณะผู้บริหารของบริษัทเทสลาแต่อย่างใด
CNN Money แสดงความเห็นต่อเรื่องเงินทุนดังกล่าวไว้ว่า โดยปกติแล้วธนาคารเพื่อการลงทุนจะเป็นผู้จัดหาเงินทุนจำนวนมหาศาลนี้ให้กับบริษัทที่ต้องการจะถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่ทางบริษัทจะต้องแบบรับภาระไว้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป และที่สำคัญคือจะต้องยอมรับสภาพหนี้ก้อนโตที่จะแสดงอยู่ในงบแสดงถานะการเงินของทางบริษัทอีกด้วย
ปัจจุบันนายอีลอน มัสก์ คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทเทสลา โดยถือหุ้นอยู่เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยอีก 25 เปอร์เซ็นต์ถัดมาคือผู้ถือหุ้น 3 รายที่ประกอบไปด้วยบริษัท T. Rowe Price, Fidelity และ Baillie Gifford ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 บริษัทยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงความเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งคงต้องติดตามต่อว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งสามจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับนายมัสก์หรือเปล่า เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น ก็ดูเหมือนว่าการถอนบริษัทเทสลาออกจากตลาดหลักทรัพย์อาจจะยังเป็นไปไม่ได้
ขณะเดียวกัน นายมัสก์ยืนยันว่าบรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทมีสิทธิ์ที่จะขายหุ้นของตัวเอง หรือจะยังคงหุ้นส่วนในอัตราเดิมก็ได้ หากนำเทสลาออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เกิดความสับสนขึ้นไปอีกว่าท้ายที่สุดแล้ว หากนายมัสก์ยังคงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยบางรายถือครองหุ้นของพวกเขาต่อไปได้อยู่ แล้วการเป็นบริษัทเอกชนของเทสลาจะมีความเป็นเอกชนในรูปแบบใดกันแน่
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผู้บริหารรายใหญ่ 6 จาก 9 คนของเทสลาระบุผ่านทางแถลงการณ์ว่า พวกเขาได้มีการพูดคุยกับนายอีลอน มัสก์แล้วหลายครั้งถึงการพิจารณาถอนเทสลาออกจากตลาดหลักทรัพย์ และได้คุยกันแล้วด้วยว่าจะทำวิธีการใดให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทางคณะผู้บริหารกำลังเดินตามแผนขั้นต่อไปเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของสถานการณ์
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หากเทสลาสามารถถอนตัวออกจากการเป็นบริษัทมหาชนได้แล้ว สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ คำตอบจากบทวิเคราะห์ของ CNN ก็คืออาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากปัจจุบันเทสลามีสินทรัพย์อยู่ราว 2,200 ล้านดอลลาร์ แต่กลับมีหนี้สินอยู่มากถึง 9,500 ล้านดอลลาร์ และเมื่อรวมกับการใช้เงินก้อนโตในอนาคตซื้อหุ้นคืนเพื่อทำให้เทสลากลายเป็นบริษัทเอกชนก็จะยิ่งทำให้หนี้สินสูงขึ้นไปจาก 9,500 ล้านดอลลาร์อย่างแน่นอน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงแสดงความเห็นว่าเทสลาไม่ควรที่จะแบกรับภาระหนี้สินที่มากไปกว่านี้แล้ว เพราะมีแต่จะสร้างภาระเพิ่มและไม่ได้การันตีว่าเทสลาจะสร้างกำไรได้จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้