ผู้ถือหุ้นบริษัท Tesla ชี้ อีลอน มัสก์ ควรถูกปลดจากตำแหน่ง CEO เพื่อการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักของบริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายใต้การนำของนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา มีผู้ถือหุ้นจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกให้กับบริษัท โดยระบุว่านายอีลอน มัสก์ ควรถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำของบริษัท
หนึ่งในผู้สนับสนุนให้นายมัสก์ถูกปลดมากที่สุดก็คือกลุ่มบริษัท CtW Investment Group กองทุนบำเหน็จบำนาญที่ได้รับการสปอนเซอร์จากหลากหลายสหภาพและองค์กร โดยหลายปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัท CtW Investment Group กล่าวโจมตีนายอีลอนมัสก์มาโดยตลอดว่ามีบทพิสูจน์ชัดเจนมากมายที่มีให้เห็นที่ชี้ว่าผู้บริหารของเทสลาควรได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อการดำเนินการที่ดีขึ้นของทั้งบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลยุทธ์และการบริหารงานภายในที่ยังมีความท้าทายอยู่มาก รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทที่ยังต้องการการรับมือที่ดีกว่านี้อยู่พอสมควร
อย่างไรก็ตามหนึ่งในนักลงทุนอันดับต้นๆของเทสลาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ทักษะหลายอย่างของนายอีลอน มัสก์ เป็นสิ่งที่หลายคนพึงพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกลุ่มผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯหลายรายที่พร้อมจะเสี่ยงดวงกับการทำธุรกิจของนายอีลอน มัสก์ เพราะยังคงเชื่อมั่นในตัวเขา ถึงขั้นที่มีการเปรียบว่าเขาเป็นเหมือนกับสตีฟ จอบส์ ของบริษัทแอปเปิล เพราะฉะนั้นหากว่าคุณไม่ชื่นชอบในตัวอีลอน มัสก์ คุณก็จะเกลียดเขาไปเลย มีแค่สองอย่างนี้เท่านั้น
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เกี่ยวกับการกดดันให้นายอีลอน มัสก์ ลงจากตำแหน่งมีขึ้นก่อนการประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นเทสลาเพียง 1 วันเท่านั้น ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในช่วงค่ำคืนของวันนี้ตามเวลาประเทศไทย ตรงกับช่วงเช้าวันอังคารที่ 5 มิถุนายนตามเวลาสหรัฐฯ โดยจะจัดที่เมาเทนวิว ในมลรัฐฯแคลิฟอร์เนีย เพื่อถกปัญหาที่เทสลากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อย่างเช่นกรณีล้มเหลวในการผลิตรถยนต์เทสลารุ่น Model 3 ให้ทันตามกำหนด การเสียชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายที่เกิดจากการชนของยนต์เทสลาที่ขับเคลื่อนด้วยระบออโตไพล็อท และการตกของหุ้นบริษัทมากถึงร้อยละ 7 ในปีนี้
การผลิตที่ล่าช้าส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อเรื่องรายได้และภาพลักษณ์ขององค์กร โดยตามเป้าหมายเดิมเทสลาวางแผนว่าจะผลิตรถยนต์รุ่น Model 3 ให้ได้ 400,000 ในระยะเวลาที่กำหนด แต่ขณะนี้เพิ่งจะสามารถผลิตออกสู่ตลาดได้เพียง 1 ใน 4 เท่านั้น และในปี 2017 ที่ผ่านมา เทสลาระบุว่าสามารถผลิตรถยนต์ได้สูงสุด 20,000 คันหากผลิตแบบเต็มกำลัง แต่ท้ายที่สุดก็สามารถผลิตได้เพียงแค่ 1,500 คันเท่านั้น
สาเหตุหลักของความล่าช้าก็คือการที่รุ่น Model 3 นั้นมีขนาดเล็กกว่าและถูกกว่า Model S เกือบครึ่งหนึ่ง โดยวางขายในสหรัฐฯอยู่ที่ราคาประมาณ 1 ล้านบาท ทำให้ยอดจองนั้นถล่มทลาย และจำเป็นจะต้องมีการผลิตอะไหล่ใหม่ทั้งหมดเพราะใช้คนละขนาดกัน ส่วนตัวแบตเตอร์รี่ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งพบว่ามีการจ้างพนักงานที่ขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้การประกอบแบตเตอร์รีไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ต้องถูกส่งกลับไปแก้บ่อยครั้ง ทำให้เกิดการล่าช้าออกไปอย่างมาก
ทั้งนี้ตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทมากว่า 14 ปี เทสลาสามารถสร้างกำไรได้ทั้งหมดเพียงแค่ 2 ไตรมาสเท่านั้น และขาดทุนไปทั้งสิ้น 2 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา