เนเธอร์แลนด์เปิดตัวต้นแบบเครื่องผลิตพลังงานจากแรงโน้มถ่วง ซึ่งอาจมาปฏิวัติวงการพลังงานทางเลือกได้ในอนาคต
หลังจากที่ ยุนยับ รูเชนอาร์ส (Janjaap Ruijssenaars) สถาปนิกชาวเนเธอร์แลนด์ พยายามออกแบบอาคารต้านทานแรงโน้มถ่วง เขาก็ได้แนวคิดขึ้นมาว่า ควรนำแรงโน้มถ่วงเหล่านั้นมาต่อยอดให้เป็นประโยชน์ เช่น การนำมาสร้างเป็นพลังงานทดแทน
เขาจึงร่วมมือกับทีมนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทวิศวกรรม VIRO ในการพัฒนาต้นแบบเครื่องกำเนิดพลังงานจากแรงโน้มถ่วง ซึ่งมีเสายาวหนึ่งเมตรยื่นขึ้นมาจากตัวเครื่อง หากมีแรงกดไปที่เสาแม้เพียงเล็กน้อย เสาก็จะโยกไปมา และแรงโน้มถ่วงจะค่อย ๆ คืนสมดุลให้เสากลับมาตั้งตรงอีกครั้ง โดยกระบวนการนี้จะไปกระตุ้นเซนเซอร์เพียโซอิเล็กทริค (piezoelectric) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตพลังงาน
ปัจจุบัน เครื่องต้นแบบนี้ยังผลิตพลังงานได้ไม่มาก โดยสามารถใช้เปิดโคมไฟขนาดเล็กได้เท่านั้น แต่ทีมงานเตรียมติดตั้งเซนเซอร์เพียโซเพิ่ม เพื่อที่จะผลิตพลังงานได้มากขึ้น โดยเตรียมทำการศึกษาต่อไปว่าควรใส่เซนเซอร์ปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม
โดยเครื่องนี้ใช้แรงตั้งต้นไม่มากในการผลิตพลังงาน และยังมีประสิทธิภาพมากกว่าแหล่งพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และลม มักสูญเสียพลังงานไปเป็นจำนวนมาก จากการเคลื่อนที่ของเครื่องผลิต เช่น กังหันลม และโซลาร์เซลล์ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการแปลงพลังงานต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เครื่องผลิตพลังงานจากแรงโน้มถ่วงนี้ แทบจะไม่ขยับเคลื่อนที่ จึงไม่สูญเสียพลังงานใด ๆ และส่งผลให้ประสิทธิภาพการแปลงพลังงานขึ้นสูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเครื่องเริ่มจับจังหวะได้ ค่าประสิทธิภาพการแปลงจะขึ้นสูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์
ขณะนี้ รูเชนอาร์ส กำลังคิดค้นวิธีที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเขาเชื่อว่าจะพัฒนาต่อยอดไปได้จนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง