นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่หลุดจากวงโคจรระบบสุริยะแรกกำเนิด ซึ่งปัจจุบันได้อยู่ห่างออกไปหลายพันล้านกิโลเมตรเลยวงโคจรของดาวเนปจูนไปอีก
ทีมนักดาราศาสตร์รายงานในวารสาร Astrophysical Journal Letters ว่า กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป หรือ ESO ที่อยู่ในประเทศชิลี ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่ถูกปกคลุมด้วยก๊าซคาร์บอนเป็นดวงแรกที่แถบไคเปอร์ หรือ Kuiper belt ซึ่งอยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไปที่ระบบสุริยะรอบนอก
โดยนักดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อให้กับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ว่า ‘2004 EW95’ ซึ่งดาวนี้มีขนาดกว้าง 300 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากโลกไปสี่พันล้านกิโลเมตร โดยคาดว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถือกำเนิดขึ้นที่ระบบสุริยะชั้นใน บริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปอยู่รอบนอกของระบบสุริยะ ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จึงถือเป็นอนุสรณ์ของระบบสุริยะแรกกำเนิด
ทางทฤษฎี ระบบสุริยะแรกกำเนิดเป็นช่วงที่ดาวเคราะห์แก๊สปะทุอย่างรุนแรง ส่งผลให้ดาวเคราะห์น้อยหลุดจากศูนย์กลางของระบบไปยังวงโคจรที่ไกลออกไป จึงคาดว่าแถบไคเปอร์จะมีดาวเคราะห์น้อยอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ปกคลุมด้วยก๊าซคาร์บอน
สำหรับดาวเคราะห์น้อย ‘2004 EW95’ ถูกค้นพบจากการสะท้อนแสงที่แตกต่างจากวัตถุอื่นในแถบไคเปอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นก้อนน้ำแข็ง ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยนั้นเป็นหิน โดยนักดาราศาสตร์จะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ต่อไป
Source
European Southern Observatory (ESO)