กัญชาถูกกฎหมายนำมาใช้เพื่อการรักษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และถือเป็นข่าวดีเมื่อประเทศไทยเตรียมเดินหน้าจริงจัง ในการศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วย โดยเตรียมนำกัญชาที่ได้จากการจับกุมมาทำประโยชน์แทนการเผาทำลาย
องค์การเภสัชกรรม พร้อมคณะนักวิจัย รับมอบกัญชาของกลางจำนวน 100 กิโลกรัม จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เพื่อให้องค์การเภสัชฯ นำไปศึกษาวิจัยทางการแพทย์ แทนการนำไปเผาทำลายกว่าปีละ 7 ตัน ซึ่งจะดำเนินการในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายนของทุกปี
โดยต้องตรวจพิสูจน์สิ่งปนเปื้อนก่อนนำไปศึกษาวิจัย คาดว่าจะทราบผลขั้นต้นภายในเดือนธันวาคมนี้ (61) หลังจากนั้นจะนำมาทำสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ (Medical Cannabis Extraction Prototype) ในรูปแบบน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น (Sublingual drop) เพื่อนำไปใช้ศึกษาในผู้ป่วย หากร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ได้รับการแก้ไข ให้สามารถใช้ในคนได้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หรืออาจมีการใช้มาตรา 44 เพื่อปลดล็อก
'น้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น' จะนำไปศึกษาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 กับผู้ป่วยใน 4 กลุ่มอาการ คือ
1. แก้คลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยคีโม
2. ลดอาการปวดของปลอกประสาทในผู้ป่วยมะเร็ง
3. ลดอาการชักในผู้ป่วยเด็กที่ดื้อต่อการรักษา
4. อาการปวดรุนแรงอื่นๆ ส่วนการนำไปรักษาโรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน และโรคมะเร็ง ยังเป็นที่ถกเถียง ซึ่งจะมีการนำข้อสรุปมาศึกษาเพิ่มเติมภายหลัง
สำหรับการยกระดับการวิจัยและพัฒนายาจากสารสกัดกัญชาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมนั้น องค์การเภสัชฯ จะดำเนินการครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีความแข็งแรงทนทานต่อโรคพืช และได้สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคต่าง ๆ ในปริมาณและสัดส่วนตามมาตรฐาน โดยคาดว่าต้องใช้เวลาปรับปรุงสายพันธุ์ 2 ปี
ทั้งนี้ ในระยะแรก จะนำเอา 'กัญชาของกลาง' มาทำเป็นสารสกัดเข้าสู่ระบบการวิจัยทางคลินิกให้เพียงพอก่อน ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาอย่างครบวงจร