ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยหนึ่งในผู้นำด้านนี้คือสตาร์ตอัปในเนเธอร์แลนด์ ที่คิดค้นเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ มาช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา
Eindhoven Medical Robotics หรือ หุ่นยนต์ทางการแพทย์แห่งไอนด์โฮเวน เป็นสตาร์ตอัปที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งไอนด์โฮเวน ในเนเธอร์แลนด์ ที่มักคิดค้นเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์
ล่าสุด ทีมวิจัยได้คิดค้นหลอดสวนที่สามารถบังคับทิศทางได้ ซึ่งจะช่วยในการผ่าตัดหัวใจที่ยุ่งยากได้เป็นอย่างดี และจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนั้น เครื่องนี้ยังช่วยทำให้แพทย์มีความเสี่ยงด้านสุขภาพน้อยลง เพราะในกระบวนการผ่าตัด หลายครั้งแพทย์ต้องอยู่ข้างผู้ป่วย จนได้รับรังสีจากการเอกซเรย์ไปด้วย ซึ่งทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง แต่อุปกรณ์นี้จะช่วยให้แพทย์สามารถบังคับหลอดสวนได้ในระยะไกล จึงไม่จำเป็นต้องยืนติดกับผู้ป่วยตลอดเวลาอีกต่อไป
นอกจากนั้น ยังมีการคิดค้นหุ่นยนต์เจาะกะโหลกศีรษะ ‘RoboSculpt (โรโบสคัลป์)’ โดยแต่ละปี มีผู้ป่วยกว่าหนึ่งแสนคนทั่วโลกที่ต้องเจาะกะโหลกเพื่อรักษาโรค ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้ความแม่นยำสูง ไม่เช่นนั้นอาจไปทำลายระบบประสาทบนใบหน้าหรือหูชั้นในได้ โดยเครื่องนี้ทำงานได้อย่างแม่นยำในระดับเศษเสี้ยวมิลลิเมตร และสั่งการอัตโนมัติด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งหุ่นยนต์จะเจาะกะโหลกไปตามแผนการที่ทีมแพทย์วางไว้
โดยมีแพทย์คอยควบคุมอีกที ทีมงานเตรียมนำอุปกรณ์ไปทดสอบภายในปีนี้ ก่อนจะนำไปใช้งานจริงในปี 2023
อีกชิ้นเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เตรียมนำมาใช้ในการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก ที่เรียกว่า DBS (deep-brain stimulation) เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โดยมีจานแปรสัญญาณติดตั้งไว้บริเวณกะโหลกผู้ป่วยด้วยสกรู ซึ่งเครื่องนี้จะระบุจุดอ้างอิงที่มองเห็นได้ชัดเจนผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI จึงทำให้ศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ผ่าตัดน้อยสามารถผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึกได้เช่นกัน
Cr.Picture : https://phys.org/news/2018-04-robot-skull-base-surgery-alleviates.html