รายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2555
กระทรวงศึกษาธิการกำลังพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม.) หลังได้รับการร้องเรียนจากนักเรียน คือนักเรียนชายต้องตัดผมสั้นเกรียน และนักเรียนหญิงต้องตัดผมสั้นเห็นติ่งหู ว่าเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยว่า ไม่เห็นด้วย เพราะสิ่งสำคัญ คือสิ่งที่อยู่ในหัวและสมองมากกว่า นับเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการพูดเข้าท่ามากที่สุด ดังนั้นคำกล่าวอ้างและเป็นห่วงว่า เด็กจะไม่สนใจการเรียน แต่หันมาสนใจในเรื่องแฟชั่นมากกว่านั้นยังไม่มีผลการทำวิจัยใดๆออกมาว่า หากย้อมสีผมหรือใว้ผมยาวจะทำให้การเรียนตกต่ำ
การให้เด็กนักเรียนตัดผมเกรียนและตัดผมให้เห็นติ่งหู ถือว่าเป็นการลดทอนสิ่งมีชีวิตที่เป็นเด็ก เป็นสัญลักษณที่ไม่สามารถทำอย่างอิสระ เป็นการบอกทางอ้อมว่าเป็นมีอำนาจเหนือเด็กมากกว่า การกำหนดทรงผมเป็นการตอกย้ำความด้อยอำนาจ ตอกย้ำความเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ สะท้อนอำนาจนิยม การมีอำนาจเหนือสิ่งมีชีวิตไม่ให้ได้รับอิสระ และไม่มีการอธิบายว่าหากเขาไว้ผมสีทอง จะไม่ถูกกาละเทศะอย่างไร หรือการไว้ทรงผมทรงนี้ หากต้องไปเสริฟอาหาร มันจะทำให้ลูกค้าไม่กล้าสั่งอาหารหรือไม่
การกำหนดทุกอย่างเพื่อมีอำนาจเหนือเด็ก ถือว่าเป็นปีเตอร์แพนซินโดรม คือให้เป็นเด็กตลอดกาล
ปัญหาการกำหนดทรงผมนักเรียนถูกนำไปพูดในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) น้องออยล์ ตัวแทนเด็กประเทศไทย ได้พูดกับคณะกรรมการทุกท่านและ Exclusive มากๆ เมื่อคณะกรรมการถามว่า "อยากให้คุณช่วยบอกเรื่องที่คุณคิดว่าเด็กไทยยังไม่ได้รับเท่าที่ควร ทั้งที่คุณมีสิทธิเด็ก"
น้องออยล์ได้ตอบไปว่า "ก็คงเป็นเรื่องกฎระเบียบของโรงเรียน เด็กนักเรียนไทยไม่มีโอกาสในการร่วมคิดกฎหมายของโรงเรียน โรงเรียนมักจะใช้กฎเดิมๆ ทั้งที่บางกฎก็ไม่ได้มีผลอะไรกับการเรียนของนักเรียนเลยมาเป็นเวลาร้อยปี อย่างเช่นทรงผม ดิฉันไม่เห็นว่าจะมีผลอะไรกับการเรียน เด็กมัธยมต้นต้องตัดผมติ่งหู เด็ก ม.ปลาย ต้องไว้ผมสั้น ดังนั้นเด็กนักเรียนควรมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนกฎระเบียบบางประการ" เมื่อพุดจบออยล์มีความรู้สึกเหมือนยกภูเขาแอลป์ออกจากอก
คำถามของคณะกรรมการล้วนแต่เป็นคำถามที่เน้นว่า ประเทศคุณมีอะไรที่ต้องแก้ไข เช่นถามเรื่องโรงเรียนเด็กพิการมีไหม ,ครอบครัวเป็นชนชั้นไหนทำไมถึงไดรับการคัดเลือก,โรงเรียนในชนบทได้รับสิทธิการศึกษาเท่าเทียมไหม