หอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยสเตนเดน วิทยาลัยการโรงแรมชื่อดังแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ และโรงแรม The Westin Grande Sukhumvit ร่วมกันจัดงาน เทศกาลอาหารดัตช์ หรือ Culinary Dutch โดยมีการเชิญมาสเตอร์เชฟชาวดัตช์ชื่อดังมาร่วมรังสรรค์เมนูพิเศษในแนวคิดปรัชญาการปรุงอาหารแบบ The New Dutch Cuisine ที่คิดค้นขึ้นเองไว้ได้อย่างน่าสนใจ
การจัดงานเทศกาลอาหารดัตช์ หรือ Culinary Dutch ครั้งนี้หอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย ซึ่งเป็นสมาคมธุรกิจชาวเนเธอร์แลนด์ในประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสำหรับนักธุรกิจทั้งชาวไทย เนเธอร์แลนด์ และนานาชาติ ในการลงทุนและทำธุรกิจระหว่างสองประเทศ ซึ่งได้นำกลุ่มสมาชิกที่เป็นลูกค้าธุรกิจมาร่วมทำการพบปะและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ผ่านกิจกรรมหลักๆสองงานได้แก่กิจกรรม Cheese Tasting ที่เปิดโอกาศให้กลุ่มนักธุรกิจชาวไทยและเนเธอร์แลนด์ร่วม 50 คนได้เข้าร่วมงานพร้อมลิ้มรสชีสพิเศษจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นโอกาสที่กลุ่มสมาชิกได้แลกเปลี่ยนและพูดคุยทางธุรกิจร่วมกัน
รวมถึงงาน Culinary Dutch Luncheon ที่กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวของหอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทยได้เข้ารับประทานมื้อกลางวันพิเศษจากเชฟอัลเบิร์ท คอยต์ (Albert Kooy) ผู้บุกเบิกการทำอาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติในเนเธอร์แลนด์ และยังเป็นประธานและเชฟบริหารของมหาวิทยาลัยสเตนเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ได้รับรางวัล SVH Master Chef ตำแหน่งสูงสุดของบุคลากรสายงานการปรุงอาหารจากสถาบัน SVH มารังสรรค์เมนูตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา
แนวคิดสำคัญ 5 อย่างในการปรุงเมนูพิเศษของเชฟอัลเบิร์ท คอยต์คือการเลือกปรุงอาหารที่แสดงถึงวัฒนธรรม ปรุงอาหารที่มอบสุขภาพที่ดีทั้งกับร่างกายจิตใจและโลกโดยเน้นที่การบริโภคผักให้มากกว่าเนื้อสัตว์ การใช้วัตถุดิบที่ธรรมชาติมีให้อย่างคุ้มค่า การให้ความสำคัญกับคุณภาพของวัตถุดิบและส่วนผสมปลอดภัย ซึ่งต้องสร้างกำไรทั้งต่อผู้บริโภค ผู้ผลิต และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน ด้วยการยึดหลัก “80/20” โดยอาหารแต่ละจานจะต้องมีผัก 80% มีเนื้อสัตว์ 20% ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น 80% และจากที่อื่นเพียง 20% เท่านั้น
นอกจากนี้คุณฮานส์ วาน เดน บอร์น กรรมการบริหารหอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทยยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการค้าอันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและเนเธอแลนด์ที่มีมาอย่างยาวนานอีกด้วย
คุณฮานส์ยังได้ยืนยันอีกด้วยว่า ปัจจุบันปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจนั้นไม่ควรถูกมองว่าเป็นอุปสรรคของการทำธุรกิจร่วมกันระหว่าเนอเธอร์แลนด์และไทย แต่ควรที่จะถูกมองว่าเป็นความท้าทายที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆต่างหาก และที่สำคัญนักธุรกิจไม่ควรที่จะใส่ใจแต่เพียงว่าบริษัทจากฝั่งยุโรปจะสามารถเข้ามาสร้างธุรกิจหรือทำกำไรในไทยได้อย่างไรบ้าง เพราะในความเป็นจริงแล้วศักยภาพด้านการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยเพื่อส่งออกไปยังเนเธอร์แลนด์และประเทศอื่นๆในยุโรปก็คือปัจจัยสำคัญที่จะสร้างผลประโยชน์มหาศาลระหว่างทั้ง 2 ประเทศเช่นกัน