แม้ว่าในปัจจุบัน ไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของบริษัทสตาร์ทอัพ รวมไปถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลก แต่นักวิเคราะห์กลับแสดงความกังวลว่า การที่ไทยขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงเติบโตได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่บทความที่มีชื่อว่า "ปัญหาด้านทักษะแรงงานของไทย ทำให้การเติบโตของธุรกิจไฮเทคช้าลง" ซึ่งระบุว่า แม้ในปัจจุบันไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีหลายแห่ง เนื่องจากบทบาทของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นและการเข้าสู่สังคมดิจิทัล แต่ไทยยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในการใช้เป็นฐานสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะแรงงานไทยยังคงขาดทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการสื่อสารและเชื่อมโยงข้อมูลในยุคดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานไทยยังขาดทักษะด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น
บลูมเบิร์กระบุว่า แม้หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2014 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ประกาศสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลไทยได้จัดทำยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมประกาศแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยภายในมีศูนย์ฝึกทักษะแรงงาน ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง 619 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทักษะของแรงงานให้สามารถรองรับภาคอุตสาหกรรมภายในอีอีซีได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคะแนนสอบ PISA ของเด็กไทยยังอยู่อันดับที่ 54 จาก 70 ประเทศที่ร่วมทดสอบ ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ บลูมเบิร์กได้อ้างความเห็นของนักธุรกิจและนักวิเคราะห์หลายคนที่มองว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน คือ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการสอนแบบเก่า และไม่มีการพัฒนาทักษะการวิพากษ์ให้กับนักเรียน ทั้งๆ ที่ทักษะดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทุกวันนี้ บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่งที่รับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงาน กลับพบว่านักศึกษาเหล่านี้ไม่มีทักษะที่จำเป็น จึงต้องฝึกอบรมและให้เงินเดือนกับนักศึกษาเหล่านี้ฟรีๆ เฉลี่ย 6 เดือนต่อคน โดยที่นักศึกษาไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทได้เลย
บลูมเบิร์กเปิดเผยว่า แม้แต่นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของไทย ก็ออกมายอมรับปัญหาของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา โดยนายแพทย์ธีระเกียรติระบุว่า ขณะนี้ไทยยังไม่สามารถพัฒนาได้แม้แต่รถจักรยานยนต์ พร้อมย้ำว่า การปฏิรูปที่จำเป็นต่อจากนี้ คือ การเพิ่มอิสระในการบริหารจัดการหลักสูตรให้แก่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และครู ด้วยการจัดหลักสูตรแบบล่างสู่บน ให้สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งสามารถกำหนดหลักสูตรได้เอง ซึ่งจะช่วยผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นายแพทย์ธีระเกียรติยังย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการจะพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาแยกออกไป
อย่างไรก็ตาม นอกจากการขาดแรงงานที่มีทักษะแล้ว บลูมเบิร์กยังระบุว่าขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลให้ภายในปี 2040 ประชากรวัยทำงานของไทยจะลดลงจากปัจจุบันถึงร้อยละ 11
นอกจากนี้ คำถามที่สำคัญที่ตามมา คือ แม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ แต่ชาวไทยจะใช้เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัทภายในประเทศหรือไม่ ดังที่นายแพทย์ธีระเกียรติได้ตั้งคำถามต่อนักข่าวว่า คนไทยจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตโดยชาติอาเซียน หรือรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลากันแน่?