รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ทุ่มงบประมาณสั่งซื้อซอฟแวร์และออกกฎหมายป้องกันความมั่นคงทางไซเบอร์ แต่สื่อต่างประเทศระบุว่าหากมีการใช้กฎหมายเพื่อสอดแนมพลเรือน อาจกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานและทำลายบรรยากาศทางธุรกิจ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าปัจจุบัน รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกต่างลงทุนด้านซอฟท์แวร์เพื่อตรวจสอบและจับตาความเชื่อมโยงระหว��างกลุ่มคนในโลกออนไลน์ เพื่อจะนำไปใช้ในการประเมินเครือข่ายและพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ระบุว่าแม้แต่หน่วยงานยุติธรรมของสหรัฐฯ ก็ยังใช้งบประมาณไปมากกว่า 5.8 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 197 ล้านบาท ไปกับซอฟท์แวร์สำหรับจับตาและเฝ้าระวังสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยตั้งเป้าว่าจะใช้งบประมาณ 128 ล้านบาทเพื่อลงทุนด้านซอฟท์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลและระบุเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งซอฟท์แวร์ดังกล่าวจะทำหน้าที่รวบรวมและเก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมดที่สามารถเข้าถึงได้ในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์และเฝ้าระวังกิจกรรมความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกลุ่มผู้ใช้สื่อเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ และปราบปรามการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยรัฐบาลไทยจะเปิดรับข้อเสนอจากผู้ผลิตและพัฒนาซอฟท์แวร์ต่างๆ และจะนำซอฟท์แวร์ที่ได้ไปใช้ควบคู่กับกฎหมายไซเบอร์ฉบับใหม่ของไทยในอนาคต
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงนายภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจไซเบอร์ G-Able (จีเอเบิล) ของไทย ระบุว่าการลงทุนของรัฐบาลไทยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ ซึ่งอนุญาตให้รัฐเข้าถึงข้อมูลของใครก็ตามที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าละเมิดกฎหมาย แต่สื่อต่างชาติตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยมักใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์กับการจับกุมและดำเนินคดีทางการเมืองมากกว่าคดีอื่นๆ โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาทในสื่อออนไลน์ ทำให้ภาคประชาสังคมและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อออนไลน์บางส่วนกังวลว่าจะมีการใช้ซอฟท์แวร์และกฎหมายใหม่ในการสอดแนมหรือเก็บข้อมูลพลเรือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลของธุรกิจออนไลน์
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า หน่วยงานรัฐบาลออสเตรเลียได้ลงนามความร่วมมือกับตำรวจไทยเพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังและปราบปรามกลุ่มอาชญากรที่ล่อลวงให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าสู่ขบวนการแชร์ลูกโซ่หรือลงทุนผ่านธุรกิจออนไลน์ปลอม ซึ่งทำให้มีผู้เสียหายหลายรายและหลายประเทศ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียและไทยจะรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล บุคลากร รวมถึงการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและการตรวจสอบรวบรวมหลักฐานในโลกออนไลน์
ส่วนกรณีที่เคยเกิดเหตุไวรัสมัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry โจมตีคอมพิวเตอร์กว่า 1 แสน 5 หมื่นเครื่องในกว่าร้อยประเทศทั่วโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่ากลุ่มแฮกเกอร์ที่ก่อเหตุนำเครื่องมือโจมตีทางไซเบอร์มาจากการเจาะระบบขโมยข้อมูลที่หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ เก็บไว้ ทำให้มีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับองค์กรและธุรกิจต่างๆ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยกับรัฐบาลอื่นๆ ได้เช่นกัน