อิทธิพลของโลกออนไลน์ ไม่ได้เป็นผลบวกต่อการทำการตลาดของแบรนด์เท่านั้น แต่นำมาซึ่งการแสดงความคิดเห็นเชิงลบ ที่มีผลกระทบต่อแบรนด์และองค์กรด้วย หลายแบรนด์ จึงต้องมีช่องทางโซเชียล มีเดีย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมาย เช่นกรณีของ GTH และ การบินไทย ใช้ช่องทาง เฟซบุ๊ก ชี้แจงข้อเท็จจริงจากคำวิจารณ์เชิงลบ
กรณีของ GTH หลังมีนักแสดงซีรีย์เรื่องดัง อัพโหลดคลิปเต้นแร้งเต้นกาบนรถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกออนไลน์ ทางต้นสังกัด ก็รีบออกชี้แจงกรณีนี้ทันทีผ่าน เฟซบุ๊ก GTH พร้อมกับสั่งนักแสดงกลุ่มนี้ งดใช้สื่อ โซเชียล มีเดีย เป็นเวลา 3-6 เดือน
เช่นเดียวกับ การบินไทย ที่ใช้ช่องทาง เฟซบุ๊ก ชี้แจงกรณียกเลิกตั๋ว เฟิรส์ คลาส ของเด็ก 2 ขวบ เพื่อนำไปให้ วีไอพี นามสกุลดัง โดยยืนยันว่า ไม่ได้ให้ที่นั่งกับบุคคลใด และอยู่ระหว่างตรวจสอบตัวแทนจำหน่ายบัตร ที่ผู้โดยสารได้ทำการสำรองที่นั่งดังกล่าว
เว็ปไซต์ อีคอมเมิร์ซ ดอท แมกกาซีน ระบุว่า การรับมือกับเสียงวิจารณ์เชิงลบบนโลกโซเชียล ควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจสร้างภาพลบให้แก่แบรนด์ได้เช่นกัน และการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก ให้ประสบความสำเร็จต่อแบรนด์ ก็คือ การชี้แจงปัญหาและคัดกรองข้อมูลเหล่านี้ มาแก้ปัญหาในองค์กรและแบรนด์
ทั้งนี้ หากแบรนด์ ต้องเจอเสียงวิจารณ์ทิศทางธุรกิจและบริการของแบรนด์ โดยให้ความเห็นสวนทางกับสิ่งที่แบรนด์ทำ ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญการตลาด หรือ การพัฒนาสินค้า สิ่งที่แบรนด์ควรทำ ก็คือ รับฟังคำวิจารณ์เหล่านั้น และนำมาแก้ไข หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยรวบรวมคำวิจารณ์ส่งต่อให้กับฝ้ายที่เกี่ยวข้อง
หรือเจอกับคอมเม้นท์โจมตี มากกว่า วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งคอมเมนต์ในกลุ่มนี้ มีความละเอียดอ่อนค่อนข้างสูง เพราะระดับความรุนแรงค่อนข้างมาก คำแนะนำในการรับมือ ก็คือ การตอบกลับโดยเร็วในเชิงบวก เพื่อลดความตึงเครียด ขณะเดียวกัน ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว
หากเจอกับกลุ่มป่วนหรือจ้องทำลายแบรนด์ การจัดการ คือ ไม่ควรตอบโต้ แต่ให้นำคอมเมนต์เหล่านี้ ไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าต่อไป โดย การฟัง จะเป็นกุญแจไขความสำเร็จให้แก่แบรนด์ และองค์กร ได้