กลุ่มกรีนพีซออกมาขอโทษแล้ว หลังนักเคลื่อนไหวของกลุ่มทำการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในเขตโบราณสถานของเปรู จนทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่พอใจ ขณะที่รัฐบาลเปรูขู่จะจับกุมกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ก่อเหตุ ข้อหาทำลายเขตโบราณสถาน
"กรีนพีซ" องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมออกมาขอโทษ หลังจากที่นักเคลื่อนไหวของกลุ่ม รวมตัวกันนำข้อความขนาดใหญ่ไปเรียงต่อกันบริเวณทะเลทรายนาซกาในเปรู เพื่อรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเปรูและคนทั่วโลกจำนวนหนึ่งว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากทะเลทรายนาซกาเป็นเขตหวงห้าม และเป็นพื้นที่ของชนเผ่าโบราณ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการทำสัญลักษณ์ขนาดใหญ่เป็นรูปร่างต่างๆ บนพื้นดินเพื่อให้มองเห็นได้จากท้องฟ้า
ในแถลงการณ์ของกลุ่มกรีนพีซเมื่อวันพุธที่ผ่านมาระบุว่า พวกเขาขอโทษต่อการลบหลู่ หรือความผิดทางจริยธรรมใดๆ ก็ตามที่นักเคลื่อนไหวได้ก่อขึ้น โดยยอมรับว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวประเมินความละเอียดอ่อนของสถานที่ดังกล่าวต่ำเกินไป แม้จะวางแผนการรณรงค์ให้รบกวนสถานที่น้อยที่สุดมาแล้วก็ตาม ทำให้สุดท้ายการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเกินขอบเขตไป จนกลายเป็นความหยาบคายและไร้ชั้นเชิง
ข้อความที่กลุ่มกรีนพีซนำไปเรียงต่อกันในทะเลทรายนาซกาคือ "Time for Change; The Future is Renewable." หรือ "ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว อนาคตเริ่มต้นใหม่ได้" โดยมีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติที่กำลังประชุมอยู่ ณ กรุงลิมาของเปรู ออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่จริงจังมากขึ้นโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวถูกติดตั้งไว้ใกล้กับสัญลักษณ์รูปนกฮัมมิงเบิร์ดขนาดใหญ่ในทะเลทรายนาซกา ซึ่งมีอายุมากกว่า 1,500 ปี โดยหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง นายลูอิส ไฮมี กาสติลโย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของเปรูได้ให้สัมภาษณ์ว่า การกระทำดังกล่าวเหมือนเป็นการตบหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเปรู พร้อมระบุด้วยว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ก่อเหตุจะถูกจับในข้อหาทำลายเขตโบราณสถาน ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี เนื่องจากมีหลักฐานว่าพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหายจากการรณรงค์จริง
กลุ่มนักเคลื่อนไหวของกรีนพีซที่ก่อเหตุมีจำนวนทั้งสิ้น 20 คน มาจาก 7 ประเทศ ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี สเปน เยอรมนี อิตาลี และออสเตรีย โดยนายมาร์ติน ไคเซอร์ ตัวแทนกรีนพีซในการประชุมที่กรุงลิมาเปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ไม่นักเคลื่อนไหวคนใดโดนจับกุม อย่างไรก็ตาม นายไคเซอร์ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่า นักเคลื่อนไหวทั้ง 20 คนโดนลงโทษทางวินัยจากองค์กรหรือไม่
ทั้งนี้ การประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศโลก ณ กรุงลิมาของเปรูจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาเรื่อยไปจนถึงวันที่ 12 ธันวาคมที่จะถึงนี้ มีตัวแทนจาก 195 ประเทศทั่วโลก ตลอดจนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เข้าร่วม เพื่อบรรลุข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่เกี่ยวกับการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน หลังจากการประชุมเพื่อบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ณ กรุงปารีสของฝรั่งเศสในการประชุมครั้งก่อนไม่ประสบความสำเร็จ