MONEY TIPS ประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2557
เราจะไปดูผลสำรวจว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณอายุเท่าไหร่ และความผิดพลาดของการวางแผนเพื่อเกษียณมีอะไรบ้าง รวมทั้งหากต้องการใช้จ่ายหลังเกษียณจะต้องเตรียมเงินมากน้อยเพียงใด
หากพูดถึงเรื่องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริง การเกษียณอายุที่เริ่มสั้นลง แต่การดำรงชีวิตหลังเกษียณเริ่มยาวนานกว่าในอดีต หลายคนจึงอาจเตรียมเงินสำหรับการเกษียณช้าเกินไป หรือ ไม่เพียงพอ
สถาบันวิจัยตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจทั้งแบบสอบถามออนไลน์ และแบบตัวต่อตัว รวม 825 ราย กลุ่มตัวอย่างอายุ 40-60 ปี ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2555 ในห้อข้อ"การเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงิน เพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบช่วงอายุ 40-60 ปี โดยสามารถแบ่งได้เป็น กลุ่มเกษียณสุข กลุ่มเกษียณพอเพียง และกลุ่มเกษียณทุกข์ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกษียณสุข โดยให้ความสำคัญกับการออมเพื่อการศึกษาและมรดกของลูกมากที่สุด รองลงมาจึงเป็นเพื่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ และ การรักษาพยาบาล
โดยอายุเฉลี่ยเริ่มต้นวางแผนเกษียณ อยู่ที่ 42 ปี ซึ่งถือว่าช้า เพราะคนสหรัฐอเมริกา จะเริ่มวางแผนเกษียณเมื่ออายุ 30 ปี โดยส่วนใหญ่ผู้ที่อายุก่อน 40 ปี ให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินเรื่องอื่นก่อน อย่างการซื้อรถ ซื้อบ้าน การแต่งงาน และการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยีงพบ 7 ข้อผิดพลาดของการวางแผนเพื่อเกษียณ ทั้งการเริ่มต้นวางแผนช้าเกินควร การวางแผนด้วยความมั่นใจมากเิกนควร ที่มั่นใจว่าจะมีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณจะใกล้เคียง หรือดีกว่าปัจจุบันถึงร้อยละ 71 การวางแผนโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสม โดยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเมื่ออายุสูงขึ้น และละเลยเงินเฟ้อที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายในอนาคต
การประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร การประมาณการอายุคาดเฉลี่ยน้อยเกินควร โดยเฉพาะผู้หญิง มีโอกาสที่เงินออมเพื่อเกษียณอายุจะหมดก่อนสิ้นอายุขัย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 79 ปี การออมเงินไว้น้อยเกินควร โดยเฉพาะหากตัดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ออกไป จะอยู่ในกลุ่มเกษียณทุกข์ทันที และการเกษียณอายุก่อนกำหนด ทำให้มีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยหากยอมเกษียณช้าลง 1 ปี จะไม่ประสบปัญหาเงินไม่พอหลังเกษียณ
นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่เคยทราบว่า หากจะมีเงินใช้หลังเกษียณจะต้องเตรียมเงินไว้เท่าใด วันนี้เรามีตัวอย่าง ตารางหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ เช่น หากต้องการใช้เดือนละ 1 หมื่นบาท 10 ปี จะต้องมีเงิน 1 ล้าน 2 แสนบาท 15 ปี 1 ล้าน 8 แสนบาท 20 ปี 2 ล้าน 4 แสนบาท และ 25 ปี 3 ล้านบาท
แต่หากต้องการใช้เงินเดือนละ 5 หมื่นบาทต่อเดือน 10 ปี จะต้องมีเงิน 6 ล้านบาท 15ปี จะต้องมีเงิน 9 ล้านบาท 20ปี จะต้องมีเงิน 12 ล้านบาท และ 25 ปีจะต้องมีเงิน 15 ล้านบาท โดยอัตรานี้ยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ ที่ทำให้มูลค่าเงินลดลง และยังไม่ได้คิดผลตอบแทนจากการลงทุนอีกด้วย
เห็นตัวเลขเหล่านี้แล้ว อาจจะตกใจ ดังนั้นการวางแผนทางการเงิน จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งผู้ที่อายุน้อย ไปจนถึงผู้ที่ใกล้เข้าสู่วัยเกษียณอายุที่จะต้องวางแผนการเงินนับตั้งแต่นี้ เพราะการเกษียณอายุที่ว่านาน อาจใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
และติดตามช่วง MONEY TIPS ทุกวันอาทิตย์ ในช่วงข่าว VOICE NEWS 18.30 น. ทาง VOICE TV