รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2563
“หมอทวีศิลป์” เหมือนจะไม่เข้าใจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังออกมาย้ำเพื่อผ่อนคลาย ทั้งที่ลิดรอนสิทธิ์ประชาชน พ้ออยากพักแล้ว แต่ยังต้องทำหน้าที่ต่ออีกเดือน “คำผกา” แนะ ถ้า “หมอเหนื่อย..ก็พัก”
“อ.พิชญ์” ย้ำถ้า ครม. เชื่อ “อนุทิน” ที่แนะยกเลิกวีซ่าจีน คัดกรองนักท่องเที่ยว ก็ไม่ต้องมาออกกฎหมายพิเศษคุมประชาชน แต่อ้างคุมโรค สะท้อน “ประยุทธ์” คุม ครม. ไม่ได้
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์รายวัน ว่า ส่วนที่แถลงเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 กรณีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่อาจใช้คำที่ฟังแล้วไม่สบายใจ ไม่ได้มีเจตนาทำให้การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นความเข้มข้น แต่อยากใช้ให้เป็นการผ่อนคลายที่ดีขึ้น พร้อมมาตรการที่ต้องทำต่อเนื่องกันไป พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อย่างอื่น และอีก 1 เดือนข้างหน้า จะเป็นการปรับตัวของภาครัฐเพื่อใช้กฎหมายที่มีอยู่ เพื่อดูแลสถานการณ์
“ผมเองก็อยากจะหยุด แต่ต้องทำหน้าที่ต่ออีก 1 เดือน ก่อนจะส่งมอบทุกอย่างเพื่อคืนสู่ความเรียบร้อย แต่ต้องขอความร่วมมือทุกคนด้วย
ขณะที่วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร (H.E. Mr. Michael George DeSombre) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ เนื่องในโอกาส เข้ารับหน้าที่ ว่า นายไมเคิล ได้ชื่นชม การจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของไทย และได้เคยเขียนบทความเผยแพร่ไปทั่วโลก ที่บอกว่าประเทศไทย มีความมั่นคง น่าเชื่อถือ และปลอดภัย ในการป้องกันโควิด-19 เป็นประเทศที่เหมาะแก่การลงทุน
นายวิษณุ ย้ำว่า สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยอย่างมาก ทั้งด้านวิชาการ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเชื่อว่าการชื่นชมดังกล่าว ไม่ใช่การยอ แต่มองที่การรับมือสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี และยังกล่าวกับทูตสหรัฐฯ ว่าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป มาตรการหลายอย่างจะเริ่มเปิดมากขึ้น แต่มาตรการด้านการบิน คาดว่าในเดือนกรกฎาคม อาจมีความคืบหน้า เพราะต้องรอการพิจารณาในเดือนมิถุนายนก่อน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและท้าทาย รวมถึงช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู เข้าสู่ฤดูฝน จึงไม่ควรคลายล็อคพร้อมกันทั่วประเทศ
นายวิษณุ ยังได้ชี้ แจงต่อทูตสหรัฐฯ ที่ถามถึงความจำเป็นของการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า มีเหตุผล 3 ประการ
1 หากไม่ใช่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจกับรัฐบาล แต่ให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัด 77 จังหวัด จะทำให้การสั่งการไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ที่รัฐบาลต้องการให้มาตรฐานเดียว (Single Standard)
2 หากแต่ละจังหวัดปิดสถานที่กันเอง ทำให้เกิดความเดือดร้อน ส่งภาพกระทบต่อภาพรวมของประเทศ และรัฐบาลต้องไปเยียวยาในสิ่งที่จังหวัดทำดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเข้าไปรับผิดชอบต่อภาพรวม
3 คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่หากใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะไม่สามารถไปขอคุ้มครองชั่วคราวได้ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เกิดความเชื่อมั่นที่จะสั่งการ
ส่วนที่ฑูตสหรัฐ หยิบยกประเด็นเรื่องการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาถามรัฐบาลในวันนี้ สะท้อนความกังวลอย่างไรหรือไม่นั้น นายวิษณุ ย้ำว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือน มีเนื้อหาดังนี้
#ทำไมยังต้องคงใช้พรกฉุกเฉินสู้โควิดต่อไป #อยากให้คนไทยอ่านทั้งหมดเกิน8บรรทัดและพิจารณาดู สรุปย่อๆคือนายกลุงตู่และรัฐบาลใช้พรก ฉุกเฉิน ในการตั้งศบค เพื่อสู้กับโควิด ถ้ายกเลิกพรก ยุบศบค.ต้องไปใช้กฎหมายปกติคือพรบควบคุมโรค ใช้คณะกรรมการควบคุมโรคแทน ซึ่งอาจเกิดปัญหาการสั่งการเหมือนก่อน ที่มีปัญหาเช่นการขาดหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ การไม่สามารถห้ามการสัญจร การไม่สามารถปิดสนามบินและพรมแดนได้ ฯลฯ มีปัญหาการบริหารแยกกันระหว่างกระทรวงอาทิ สาธารณสุข พาณิชย์ คลัง มหาดไทย ต่างประเทศ กลาโหม เกษตร แรงงาน พัฒนาสังคมฯลฯ
พรบควบคุมโรค2558 . แทบทำอะไรโควิดไม่ได้ เพราะพรบนั้นใช้ควบคุมโรคระบาดทั่วไปเช่นไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค พอได้ เปรียบเหมือนแค่ระดับใช้ตำรวจจับโจรหรือปราบจลาจล ในเมืองแต่โควิดเป็นสงครามโลกครั้งที่3ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงใช้เครื่องมือแค่พรบควบคุมโรคไม่พอ.
วันนี้มหาอำนาจในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ยุโรปฯลฯ ยังเอาไม่อยู่ คนป่วยทั้งโลกเกือบ6ล้าน. ตายได้ทุกเมื่อ เราจึงเดินแบบประมาทไม่ได้เลย ขืนปล่อยมือ คนไทยคงตายเป็นเบือ. ใครจะรับผิดชอบ ฝ่ายค้านฝ่ายแค้นคงไม่รับผิดแน่นอน ได้แค่ตะโกนด่ารัฐบาลต่อไป ? ชีวิตคนไทยทุกชีวิตสำคัญ ครับแม้จะเห็นด้วยเห็นต่างกันก็ตาม ผมจึงเห็นว่าการใช้พรกฉุกเฉินเพื่อคงการรวมศูนย์การแก้ปัญหา
“สงครามโควิด” จึงมีความจำเป็นยิ่ง เพราะใช้พรกฉุกเฉินแล้วแต่ยังสามารถลดมาตรการลงเป็นระยะๆได้ ในแต่ละจว.ก็ลดดีกรีตามความพร้อมของแต่ละจว. ให้อำนาจผู้ว่าเพิ่มมาตรการผ่อนคลายแยกในแต่ละจังหวัดได้มากขึ้น
และยังทิ้งท้ายว่า ถ้าสถานการณ์ในประเทศและสถานการณ์โลกดีขึ้น…ก็ผ่อนปรนมากขึ้นเรื่อยๆ. ถ้ากลับมาติดเพิ่มก็ปรับเข้มมาตรการขึ้น ซึ่งศบคภายใต้พรกฉุกเฉินจะคล่องตัวกว่าพรบควบคุมโรคที่ใช้ระบบราชการปกติเป็นร้อยเท่าครับ ลองใช้วิจารณญาณพิจารณากฎหมายทั้ง2ฉบับนี้ดูครับ #ประเทศไทยต้องชนะคนไทยทุกคนจะชนะไปด้วยกันครับ