ไม่พบผลการค้นหา
ซีเอ็นบีซีรายงานว่า 'ไทย' เป็นประเทศที่เกิดการรัฐประหารบ่อยที่สุดในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ แต่สาเหตุไม่ได้มาจากความขัดแย้งหรือความไม่พอใจในตัวผู้นำเท่านั้น แต่เกิดจากแนวคิดว่ารัฐประหาร "เป็นเรื่องธรรมดา" "ยอมรับได้" นำไปสู่การเรียกร้องรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองอยู่บ่อยๆ

ทอม ชิตตี ผู้สื่อข่าวของซีเอ็นบีซี รายงานอ้างอิงบทความใน New Mandala แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าประเทศไทยมีการรัฐประหารเกิดขึ้น 22 ครั้ง โดย 13 ครั้งประสบความสำเร็จ และอีก 9 ครั้งล้มเหลว ส่วนการรัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2014 มีต้นตอจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าเป็นเพราะอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม ซีเอ็นบีซีได้อ้างข้อมูลอีกชุดขององค์กรไม่แสวงผลกำไร One Earth Foundation ที่จัดทำโครงการศึกษาและประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารในประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่ามีอีก 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยเกิดรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ปัจจัยแรก คือ 'วัฒนธรรมรัฐประหาร' ซึ่งหมายถึงประเทศที่เคยเกิดรัฐประหารมาก่อนแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดซ้ำยิ่งกว่าประเทศที่ไม่เคยมีประวัติ เพราะคนจำนวนหนึ่งในประเทศที่เคยมีการรัฐประหาร จะมองว่า "การรัฐประหารเป็นเรื่องธรรมดา" เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และในบางครั้งก็เป็นหนทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนมีการเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมา

ปัจจัยที่สอง คือ ความก้ำกึ่งของรัฐบาล โดยซีเอ็นบีซีระบุว่า ประเทศที่เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบหรือประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ จะไม่ค่อยมีโอกาสเกิดรัฐประหารมากนัก แต่ประเทศที่รัฐบาลอยู่ก้ำกึ่งระหว่างระบบการปกครองสองแบบ จะมีความอ่อนไหวสูง และมีโอกาสจะถูกรัฐประหารมากกว่า พร้อมยกตัวอย่างรัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกรัฐประหารในเวลาห่างกันไม่ถึง 10 ปี และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แกนนำการรัฐประหารเมื่อปี 2014 เข้าสู่อำนาจครั้งใหม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่ยังมีข้อกังขา

ข้อมูลที่ซีเอ็นบีซีอ้างอิง มาจากโครงการ CoupCast ของมูลนิธิวันเอิร์ธ ซึ่งรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดรัฐประหารในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อนำไปสู่การแจ้งเตือนและหาทางป้องกันรัฐประหาร โดย CoupCast ประเมินว่า ในเดือน ส.ค.2019 ไทยมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารประมาณ 0.10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาพรวมของความเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารในไทยตลอดปีนี้ อยู่ที่ 2.61 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศที่มีแนวโน้มจะเกิดรัฐประหารมากที่สุดในโลกตอนนี้ คือ ซูดาน คิดเป็น 8.20 เปอร์เซ็นต์

AFP-โมฮัมเหม็ด มอร์ซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ที่ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2556 เสียชีวิตเมื่อ 17 มิ.ย.2562
  • โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ผู้นำพลเรือนอียิปต์ที่ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2556 เสียชีวิตขณะขึ้นศาลในปีนี้

ส่วนเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงรัฐประหาร จะวิเคราะห์จาก (1) สถิติการรัฐประหารในอดีต ซึ่ง CoupCast มีข้อมูลการรัฐประหารราว 600 ครั้งทั่วโลก โดยย้อนหลังไปถึงปี 1920 ให้สืบค้นหรือเปรียบเทียบ (2) ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นๆ รวมถึงจีดีพี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราการตายแรกเกิด (3) สภาพการเมือง ประเมินจาก ระบบกองทัพ ระบอบประชาธิปไตย อายุเฉลี่ยของระบอบการปกครองต่างๆ ที่เคยมีในประเทศ การจัดการเลือกตั้ง การจัดลงประชามติ และจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ 

(4) ความรุนแรงทางการเมือง โดยจะเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์ในประเทศกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน รวมถึงศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ เพิ่มเติม (5) ภาวะชะงักงันที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือเศรษฐกิจก็ตาม และ (6) คุณสมบัติของผู้นำประเทศ โดยจะพิจารณาจากอายุ ประสบการณ์ทางการทหาร ระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจ และวิธีได้มาซึ่งอำนาจ

มูลนิธิวันเอิร์ธระบุด้วยว่า โครงการ CoupCast มีเป้าหมายเพื่อประเมินความเสี่ยงและหาทางป้องกันการรัฐประหาร ซึ่งไม่เหมือนวิกฤตทางการเมืองอื่นๆ ที่อาจจะคลี่คลายได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปี แต่ผลพวงจากรัฐประหารนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าจะเริ่มขึ้นหรือจบลงเมื่อใด และมักจะทำให้เกิดผลเลวร้ายตามมา เนื่องจากหลายประเทศต้องการล้มล้างผู้นำที่ไม่ชอบธรรม ละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่กลับเลือกใช้วิธีสวนทางกับหลักการประชาธิปไตย เช่น มาลี หรือมอริเตเนีย

ในบางประเทศ การรัฐประหารนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่น กัมพูชา, รวันดา รวมถึงทำให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งรุนแรง เช่น เซียร์ราลีโอน ซูดาน และยูเครน ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารซ้ำซ้อน ซึ่งในบางครั้งอาจลุกลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน และนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา มี 49 ประเทศทั่วโลกเผชิญกับการรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: