ไม่พบผลการค้นหา
เฟซบุ๊กและพันธมิตร เปิดตัวเงินสกุลดิจิทัลใหม่ 'Libra' มีกำหนดใช้ในปี 2020 ด้านผู้เชี่ยวชาญหวั่นเรื่องความปลอดภัยและการทำตัวเป็นธนาคารกลางของโลกรายใหม่ของเฟซบุ๊ก

'ลิบรา' เงินสกุลดิจิทัลตัวใหม่ของวงการคริปโทเคอร์เรนซีที่มี 'เฟซบุ๊ก' กับพันธมิตรอีก 27 บริษัทชั้นนำในวงการสตาร์ทอัปและการเงินเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีทั้งอีเบย์ มาร์เตอร์การ์ด และวีซ่ารวมอยู่ด้วย โดยสกุลเงินดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้ในช่วงครึ่งปีแรกชของปี 2020

เฟซบุ๊กกล่าวว่า "ลิบราจะเป็นสกุลเงินและโครงสร้างทานฐานทางการเงินใหม่ของโลก โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการพัฒนาระบบสกุลเงินดังกล่าวนี้"

แถลงการณ์ของเฟซบุ๊กยังระบุว่า 'บล็อกเชนลิบราจะเปิดให้ผู้ใช้ทั้งผู้บริโภค นักพัฒนาโปรแกรมและบริษัทต่างๆสามารถเข้าไปใช้งานเครือข่ายลิบราได้ ทั้งการสร้างการผลิตภัณฑืทางการเงิน หรือการเพิ่มบริการต่างๆ นอกจากนี้การเข้าถึงระบบเครือข่ายลิบรานั้นมีข้อจำกัดที่น้อยมาก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปพัฒนานวัตกรรมและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบบล็อกเชน'

การเปิดตัวเงินสกุลดิจิทัลของเฟซบุ๊กนั้น ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างออกมาตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องความปลอดภัยของระบบการเงินที่ถูกตั้งขึ้นใหม่นี้ เนื่องจากที่่ผ่านมาเฟซบุ๊กก็มีนโยบายในการให้พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กต่างๆ ได้ ดังเช่นกรณีของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล 'เคมบริดจ์ อนาไลติกา' ที่ใช้ช่องทางดังกล่าวเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 87 ล้านคนเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ใครเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนกับ 'ลิบรา'

พันธมิตรของเฟซบุ๊กผู้ก่อตั้งสกุลเงินดิจิทัลตัวใหม่นี้มีทั้งสิ้น 27 ราย โดยมีทั้งบริษัทการเงินอย่างวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด บริษัทซื้อขายสินค้าอย่างอีเบย์ บริษัทสตาร์ทอัพอย่างอูเบอร์ และ แอปพลิเคชั่นเพลงอย่าง Spotify เป็นตน ทั้งนี้เฟซบุ๊กคาดว่าจะมีพันธมิตรเข้าร่วมใช้งานเงินสกุลนี้อีกกว่า 100 แห่งทั่วโลก รวมไปถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่นๆด้วยเช่นกัน

เราจะใช้ 'ลิบรา' ได้อย่างไร

ผู้ที่จะใช้ลิบรา จะต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน 'คาลิบรา' ซึ่งจะเป็นเสมือนกระเป๋าเงินของลิบรา โดยจะเชื่อมโยงกับวอทซ์แอป, แมสเซนเจอร์ หรือเป็น standalone แอปพลิเคชันของคาลิบรา แต่ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนเงินหรือทรัพย์สินที่มีเป็นเงินดิจิทัลตัวใหม่นี้ได้อย่างไร แต่ผู้ใช้สามารถใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อเงินลิบราได้

ทั้งนี้เงินดิจิทัลลิบราจะถูกจัดการโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันถูกกำกับดูแลโดยเฟซบุ๊กและพันธมิตรในการก่อตั้งอีก 27 แห่ง นอกจากนี้ลิบราจะถูกค้ำประกันโดยรัฐบาลของแต่ประเทศซึ่งมีทรัพย์สินจริงในการค้ำประกันเรื่องความมั่นคงในอีกชั้นหนึ่ง 

เสถียรภาพของลิบรามีมากน้อยแค่ไหน ?

เฟซบุ๊กและกลุ่มพันธมิตรนั้นตั้งใจให้ 'ลิบรา' เป็นตัวช่วยทลายข้อจำกัดการเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินของคนที่อยู่ในพื้นที่เขตห่างไกล โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ พื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้

เฟซบุ๊กระบุว่า ลิบราจะถูกกำหนดให้เป็นเงินในรูปแบบของเงินที่มีค่าที่มั่นคง (Stable Coin) ซึ่งลิบราจะถูกค้ำประกัยโดยเงินสำรอง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง และไม่ได้อิงจากเพียงสกุลเงินเดียว แต่ลิบราจะเป็นตะกร้าของสกุลเงินประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น เงินฝากธนาคาร และ พันธบัตรรัฐบาล

นอกจากนี้ ลิบราจะเป็นเงินดิจิทัลที่ผู้บริโภคสามารถนำไปใช้ซื้อและแลกเปลี่ยนเงินอัตราเงินได้ทั่วโลก และยังสามารถใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าได้จริง ซึ่งเฟซบุ๊กกำหนดให้ค่าเงินดิจิทัลลิบราตัวนี้ มีอัตราแลกเปลี่ยนเทียบเท่ากับเงินสด

ขณะที่เรื่องของค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ นั้น การใช้ลิบราจะช่วยลดข้อจำกัดของค่าใช้่จ่ายในส่วนนี้ลงโดยลิบรา ซึ่งมีระบบ 'คาลิบรา' ซึ่งเป็นระบบการทำธุรกรรมเช่นเดียวกับ PayPal ซึ่งหมายถึง ผู้บริโภคสามารถใช้เงินดิจิทัลลิบราตัวนี้แทนเงินสดอย่างเงินดอลลาร์ได้ในอนาคต ทำให้ผู้ที่ถือเงินดิจิทัลสกุลลิบรานี้จึงไม่จำเป็นจะต้องมีเครดิตการ์ด หรือบัญชีธนาคาร เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือและสัญญาณอินเตอร์ก็สามารถใช้จ่ายเงินดิจิทัลนี้ได้

เฟซบุ๊กจะมีมาตรการปกป้องความปลอดภัยของผู้ใช้อย่างไร

เฟซบุ๊กกล่าวว่าในระบบเงินดิจิทัล 'ลิบรา' นี้ ผู้ใช้จะไม่สามารถเปิดเผยทำธุรกรรมใดๆ บนเครือข่ายของคาลิบราได้ แต่ในเครือข่ายคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ บริษัทต่างๆ และรัฐบาลสามารถเจาะจงเข้าถึงผู้ใช้ด้วยการทำธุรกรรมของพวกเขาจากรูปแบบในการใช้สกุลเงินดิจิทัลได้ นอกจานี้เฟซบุ๊กยังยืนยันว่า ระบบคาลิบราจะไม่เปิดเผยข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้ให้กับเฟซบุ๊ก ยกเว้นในกรณีเฉพาะและไม่ได้ใช้เพื่อการโฆษณาของเฟซบุ๊ก 

เฟซบุ๊กยังกล่าวอีกว่า คาลิบราจะมีกระบวนการตรวจสอบและต่อต้านการทุจริตเช่นเดียวกันกับที่ธนาคารและบัตรเครดิตใช้ 'ออเรลี โลตีส์' นักวิเคราะห์อาวุโสของ Forester หน่วยงานด้านการตลาดของสหรัฐฯ กล่าวว่า "การเปิดตัวเงินสกุลดิจิทัลของเฟซบุ๊กนี้เกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันและการจับตามองในเรื่องของความปลอดภัยของบัญชีผู้ใช้ส่วนตัว หลังจากที่ผ่านมาเฟซบุ๊กถูกโจมตีในเรื่องความปลอดภัยของบัญชีผู้ใช้งาน"

นอกจากนี้โลตีส์ยังกล่าวว่า "โครงการเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กทำงานร่วมกับบริษัทวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดนั้น เราสามารถคาดหวังให้หน่วยงานกำกับดูแลและรัฐบาลตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการรวบรวมและจัดการข้อมูลทางการเงินของ Facebook และระบบดังหล่าวของเฟซบุ๊กนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อบังคับหรือไม่"

ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศสั่งจับตาเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กเพราะหวั่นว่ามันจะกระทบกับค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่างๆ ที่ถือครองกันในปัจจุบัน นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส รวมไปถึงรัฐมนตรีการคลังของประเทศกลุ่ม G7 ให้มีการถกเถียงเรื่องกระแสเงินดิจิทัลให้มากขึ้น และทางฝรั่งเศสยังมีความกลังวลว่า "ลิบราจะเข้ามาทำลายอธิปไตยทางการเงินในอนาคตอีกด้วย"

ทางด้านนายมาร์คัส เฟอร์เบอร์ สมาชิกรัฐสภายุโรปจากเยอรมันกล่าวว่า "โครงการเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก ทำให้เฟซบุ๊กกำลังตั้งตัวเป็นธนาคารเงา (shadow bank)"

ทางด้านนายมาร์ค คาร์นี ผู้ว่าการธนาคารของอังกฤษออกมาเรียกร้องให้มีการยกระดับมาตรฐานทางการเงินที่สูงขึ้น นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าลิบราอาจต้องเผชิญกับเรื่องกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย

"อะไรก็ตามที่ถูกนำมาใช้บนโลกใบนี้ มันจะกลายเป็นระบบทันที และมันจะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานสูงสุดในการถูกควบคุม"

ขณะที่ทางด้านโฆษกของเฟชบุ๊กกล่าวว่า ทางเฟซบุ๊กยินดีที่จะรับผิดชอบปฏิบัติตามนโยบายที่ถูกตั้งคำถาม ซึ่งกระบวนการต่างๆ เหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการทำงานต่อไป

แม้ว่าเงินสกุลดิจิทัลจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในปัจจุบัน แต่ 'ลิบรา' จะทำให้วงการสกุลเงินดิจิทัลเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงทั้งจากการรวมตัวของพันธมิตรทางธุรกิจระดับโลกที่พร้อมใจกันพัฒนาเงินสกุลนี้ให้เกิดการใช้จ่ายได้จริงในตลาด และสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้กว่า 2,000 ล้านทั่วโลกจากการใช้งานแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ในอนาคต 'ลิบรา' อาจจะกลายเป็นสกุลเงินของโลกสกุลหนึ่งก็เป็นได้

ที่มา CNN / CNBC / techcrunch

ข่าวที่เกี่ยวข้อง