ไม่พบผลการค้นหา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เทศบาลนครภูเก็ตสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ (Phuket Learning City) เพื่อจัดทำแผนการศึกษาและทบทวนการจัดทำ Blueprint ด้านการศึกษา กำหนด “พิมพ์เขียว” เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายให้ภูเก็ตเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า กลไกการวางแผนพัฒนาการศึกษา หรือ บลูพรินท์ มีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1. โอกาสทางการศึกษา ทำอย่างไรให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้เด็กไม่หลุดจากระบบการศึกษาเพราะเชื่อมั่นว่าการศึกษาเป็นบันไดขั้นพื้นฐานทำให้คุณภาพชีวิตที่ดี สอดรับวิสัยทัศน์นครภูเก็ตต้องเป็นเมืองน่าอยู่ สร้างสรรค์ ยั่งยืน 2. คุณภาพด้านการศึกษา ถ้าผู้บริหารรู้จักนำข้อมูลมาวิเคราะห์จะช่วยให้สามารถลงไปดูแลเด็กแต่ละกลุ่มได้อย่างดี และ 3. ประสิทธิภาพทางการศึกษา  

ทั้งนี้ความสำเร็จการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ต อยู่ที่ความร่วมมือของเครือข่ายที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทำงานขับเคลื่อนไปด้วยกัน ที่ผ่านมาเทศบาลนครภูเก็ตได้ร่วมกับ กสศ. และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำระบบสารสนเทศ Q-info มาเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อยกระดับคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสและเข้าถึงการศึกษาได้ทุกช่วงวัยรวมทั้งแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยงทั้งในระบบและนอกระบบ

“ก้าวต่อไป เราจะต้องเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ Learning City ซึ่งเมืองภูเก็ตเป็นของท่านทุกคน ไม่ใช่ตัวดิฉัน ไม่ใช่ของเทศบาล แต่เป็นเมืองที่เรารัก ต้องเป็นเมืองของเราทุกคน และจะต้องอยู่คู่กับลูกหลานต่อไป พวกเราทุกคนต้องช่วยกันทำให้ลูกหลานของเราได้รู้สึก ภูมิใจ โชคดีที่เกิดมาเป็นคนภูเก็ต และร่วมกันปกป้องและเป็นหนึ่งพลังสร้างเมืองขับเคลื่อนเมืองให้เป็นเมืองแห่งโอกาส เมืองแห่งความเท่าเทียม” นายกเทศมนตรีภูเก็ต กล่าว

ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ต้องขอยินดีกับภูเก็ตที่ได้เข้ารอบสุดท้ายเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยการใช้พิมพ์เขียวกำหนดเป้าหมาย เป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ในการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเทศบาลนครภูก็ต มีความพร้อมในการเป็นนครแห่งการเรียนรู้ อยู่ที่จะร่วมกันตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าปี 2020 จะเดินไปทางไหนโดยมี Q-info เป็นเครื่องทุ่นแรงทั้งการเก็บข้อมูล การทำ Data visualization ให้ผู้บริหารตัดสินใจได้ง่าย รวมทั้งต้องดึงการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคธรุกิจ ประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

สำหรับการเดินหน้าไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้มีคุณลักษณะ 6 ประการ คือ 1. การเรียนรู้ ทุกช่วงวัย 2. การเรียนรู้ ในครอบครัวและชุมชม 3. การเรียนรู้ระหว่างการทำงาน 4. การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ 5. พัฒนาคุณภาพในการเรียนรู้ และ 6. ส่งเสริมค่านิยมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต หากพิจารณาไปยังเมือง ESPOO ที่ UNESCO ยกให้เมืองแห่งการเรียนรู้ มาจาก 3 ปัจจัย คือ 1. เขาคิดว่าปัญหาใหม่ๆในโลกต้องการวิธีการใหม่ๆในการแก้ไขปัญหา คนในเมืองต้องพร้อมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆแก้ปัญหาเมือง 2. มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ บูรณาการจนบรรลุผลสำเร็จ แล ะ 3. การเรียนรู้คือความสุข เยาวชนที่ค้นพบความสุขคือชีวิตการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ข้อมูลจาก ระบบ Q-info จะมีข้อมูลรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับเด็กซึ่งนำไปใช้วางแผนการพัฒนาเพื่อเดินหน้าไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้งมิติของโอกาสทางการศึกษา เช่น ข้อมูลพื้นฐานของเด็ก อัตราการเรียนต่อ การโยกย้ายถิ่น และสุขภาพ ในมิติของคุณภาพการศึกษา เช่น คะแนน O-NET ป.6 ม.3 ซึ่งพบว่า ค่าเฉลี่ยเทศบาลสูงขึ้นทุกวิชา และในมิติของประสิทธิภาพ เช่น ข้อมูลครูต่อนักเรียน มีอัตราที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 

S__20112135.jpgS__20112137.jpgS__20112138.jpg