กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานการขอรับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โดยมีกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 16 กองกำกับ ผ่านระบบ VDO Teleconference
พล.ต.ท.วิชิต ปักษา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่าง บช.ตชด. และ กสศ. เพื่อจัดทำโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษานั้น การดำเนินงานโครงการฯ ในภาคเรียนที่ 1/2563 ที่ผ่านมา ตชด.และ กสศ.ได้พัฒนาหลักเกณฑ์กระบวนการคัดกรองนักเรียนยากจนด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขนักเรียนทุนเสมอภาคเป็นรายบุคคล ได้รับความร่วมมือจากกองกำกับการฯ ครูใหญ่ ครูผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนสังกัดตชด.เป็นอย่างดี ในการระดมความร่วมมือช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึงแม้ว่าการดำเนินการ จะเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลจากการร่วมแรงร่วมใจทำให้นักเรียนในสังกัดตชด.ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข จาก กสศ. จำนวนกว่า 17,075 คน ครอบคุลม 217 โรงเรียน
“ทุนเสมอภาคไม่ได้เพียงช่วยเด็กยากจนที่อยู่ตามแนวชายแดนให้ได้รับการศึกษาเท่านั้น แต่ยังช่วยครอบครัวเด็กที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจให้ได้รับการดูแลอีกด้วย ต้องยอมรับว่าก่อนจะมีทุนการศึกษาจาก กสศ. บางครอบครัวต้องการให้เด็กออกจากระบบการศึกษา เพื่อมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่เมื่อเด็กได้รับทุนการศึกษานี้ จึงได้เข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้บางส่วน ถือว่าทุนเสมอภาคได้ช่วยให้เด็กมีการศึกษาและแก้ไขปัญหาความยากจนในครอบครัวไปพร้อมกัน เมื่อเด็กกินอิ่มและปัญหาครอบครัวเบาบางลง ย่อมทำให้เด็กมีขวัญกำลังใจและไม่เครียดต่อปัญหาที่เผชิญอยู่ จึงอยากมาโรงเรียนเพราะรู้สึก มีความสุข ซึ่งเป็นผลจากการที่ ตชด. ทำงานร่วมกับชุมชน จึงได้เห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงและสามารถคัดกรองเด็กยากจนพิเศษให้ได้ทุนจาก กสศ.” พล.ต.ท.วิชิต กล่าว
พล.ต.ท.วิชิต กล่าวว่า ในส่วนของการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อรวบรวมฐานข้อมูลของนักเรียนทุนเสมอภาคนั้นแม้จะประสบปัญหาข้อจำกัดในเรื่องความยากลำบากของการเดินทางเพื่อเยี่ยมบ้าน และบันทึกข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล แต่ทาง ตชด.ได้มีการประสานงานระดับนโยบายเพื่อขอความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ให้มีการกำกับการดูแลและสั่งการ ครู ตชด.เพื่อออกสำรวจค้นหากลุ่มเด็กยากจนพิเศษ พร้อมเน้นย้ำในอนาคตคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือระหว่าง ตชด.กับ กสศ. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสารสนเทศมาสนับสนุนการทำงาน ของโรงเรียนในสังกัด ตชด. อีกทั้งอาจจะต้องพิจารณาการขยายระเวลาในการนำเข้าข้อมูลนักเรียนเพิ่มเติม เนื่องจากบางพื้นที่มีอุปสรรคในการเดินทาง และอาจต้องใช้เวลานานในการเข้าถึงพื้นที่
“ทั้งนี้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา บช.ตชด. และ กสศ. ได้มีการตรวจสอบข้อมูล ติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษาผ่านระบบสารสนเทศ พบว่ายังมีสถานศึกษาบางส่วนที่ไม่ได้ดำเนินการบันทึกใบสำคัญรับเงิน (กสศ.06) รวมทั้งการส่งเงินอุดหนุนฯในส่วนของสถานที่คงเหลือจากการดำเนินงานที่ผ่านมา คืนเงินกลับไปยัง กสศ. รวมถึงการบันทึกเงื่อนไขการรับเงินอุดหนุนฯ 2 เงื่อนไข คือ 1) การบันทึกการมาเรียน 2) การบันทึกน้ำหนักส่วนสูง ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนี้ จึงขอความร่วมมือกองกำกับการทั้ง 16 กองกำกับเร่งประสานงานติดตามสถานศึกษาในสังกัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด” ผบช.ตชด. กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ขอขอบคุณครูสังกัด ตชด. จาก 218 โรงเรียน ที่ได้ลงพื้นที่ค้นหาคัดกรองนักเรียนที่มีความยากลำบากซึ่งอยู่ในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนทั้งหมด ทำให้กสศ.มีฐานข้อมูลที่สามารถชี้เป้านักเรียนที่มีความยากลำบากใน รร.ตชด.ได้ ในขณะที่สภาพความเป็นจริงนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะทางบ้านยากจนด้อยโอกาส ต้องดิ้นรนทำงานเพื่อการยังชีพเป็นหลัก หรือบางคนต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยดูแลน้องและผู้สูงอายุที่บ้านในช่วงที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ทำให้นักเรียนเหล่านี้มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายครอบครัวของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาคต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ ที่อาจกระทบไปถึงตัวเด็กนักเรียนจนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา
จากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของครูทั่วประเทศในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมาที่พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนต่อวันของครัวเรือนนักเรียนทุนเสมอภาคลดลงเหลือเพียงวันละ 36 บาท และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 73 ซึ่ง กสศ. ได้ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์โควิท-19 ต่อครัวเรือนนักเรียนทุนเสมอภาคมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยได้ปรับปรุงการทำงาน และกระบวนการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในภาคเรียนที่ 2/2563 กสศ.จะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาล - ประถมศึกษา คนละ 1,500 บาท และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-ปลาย คนละ 2,500 บาท เพื่อเป็นค่าครองชีพทั้งหมด
ดร.ไกรยส กล่าวว่า อยากขอความร่วมมือจากกองกำกับการฯ ครูใหญ่ ครูประจำชั้น บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นกำลังและกลไกสำคัญ ในการช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนให้ได้เข้าถึงความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ร่วมมือบันทึกการมาเรียน น้ำหนักส่วนสูงของนักเรียน ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนี้ เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลนำไปสู่การช่วยเหลืออื่นๆเพิ่มเติมและเหมาะสม ดังนั้นการคัดกรองข้อมูลนักเรียนถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นฐานการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และตชด.เพื่อให้เด็กๆที่ยากจนที่สุดในประเทศได้มีโอกาสรับเงินอุดหนุน จาก กสศ. เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับ ตชด. 2 ปีที่ผ่านมา กสศ.และ ตชด.เห็นถึงความสำคัญในการจัดทำฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลและข้อมูลสถานศึกษาของ บช.ตชด.อย่างเป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้ส่วนกลางมีฐานข้อมูลนักเรียนและติดตามได้เป็นรายบุคคล พร้อมทั้งนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาและกำหนดนโยบายด้านการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด ตชด.ต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะเริ่มทดลองใช้ระบบสารสนเทศดังกล่าวได้ในปีการศึกษา 2564
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานศึกษาที่รับรองข้อมูลนักเรียนไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา สามารถดำเนินการได้ในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2/2563 เมื่อผ่านกระบวนการรับรองตามเวลาที่กำหนด จะได้รับเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขได้ทันในภาคเรียนที่ 2 อย่างแน่นอน ขอให้คุณครูทุกท่านรีบดำเนินการส่งข้อมูลเข้ามา