นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุมหารือความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางร่วมมือในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงกำหนดแนวทางการตรวจสอบและพัฒนาฐานข้อมูลเด็กยากจน ด้อยโอกาสทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา เพื่อช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้เก็บข้อมูลเฉพาะตัวของประชากรวัยเรียนทั้งหมดของประเทศร่วมกับ 32 หน่วยงานทั้งในและนอกศธ. ตั้งแต่ ปี 2549 เช่น กระทรวงมหาดไทย(มท.)เพื่อตรวจสอบความถูกต้องกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยสามารถประมวลผลเป็นภาพรวมระดับประเทศออกมาเป็นรายชื่อของประชากรวัยเรียน โดยจำแนกรายละเอียดออกเป็น 5 ส่วน คือ ข้อมูลสถานศึกษา ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้อมูลข้าราชการ และข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ
นายการุณกล่าวว่า ฐานข้อมูลนี้มีความละเอียดระดับครัวเรือน บ้านเลขที่ มีเด็กเยาวชนวัยเรียนอยู่ในทะเบียนบ้านใดบ้าง ครอบคลุมเด็กที่มีสัญชาติไทยและเด็กรอสัญชาติไทย หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก มีรายละเอียดการศึกษาของเด็กในทุกสังกัด พร้อมที่จะนำไปบูรณาการเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง นำไปวางแผนผลิตกำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานของประเทศ ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมหาวิทยาลัยนเรศวรพัฒนาบิ๊กดาต้าหรือ ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ครอบคลุมทุกประเด็น ทุกแง่มุม และเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานอีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาในฐานะเจ้าภาพการบูรณาการความร่วมมือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีแผนจะหารือเรื่องนี้ อีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้
การุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยเพื่อสนับสนุนภารกิจตามหน้าที่ซึ่งระบุไว้ใน มาตรา 5 (7) ของพ.ร.บ.กสศ. ว่าต้องศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา สนองความต้องการทางด้านกำลังแรงงานและยกระดับความสามารถของคนไทย โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึ��ษาหรือ iSEE เบื้องต้นครอบคลุม 2 กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศคือ 1.กลุ่มนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 2.กลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยระบบสามารถประมวลผลพื้นที่ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แสดงรายละเอียดเป็นรายบุคคล ระดับโรงเรียน ตำบล อำเภอ จังหวัดไปจนถึงระดับประเทศ
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ระบบ iSEE ยังสามารถบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน เพื่อพัฒนาให้ระบบสามารถรายงานผลข้อมูลในมิติด้านกำลังคนของประเทศ เช่น ในเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และจังหวัดข้างเคียง อย่างเช่น ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด มีจำนวนกำลังคนทั้งในและนอกระบบการศึกษาที่สามารถพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงนักลงทุนสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผนการพัฒนาคนและการลงทุนให้สอดคล้องกับทิศทางของพื้นที่ตนเอง โดยคาดว่าระบบนี้จะสามารถพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1-2 ปีนี้ ทั้งนี้ กสศ.จะเปิดให้หน่วยงานความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ทดลองใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในมิติข้อมูลการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเด็กในและนอกระบบการศึกษา เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นสอดคล้องต่อการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทางwww.isee.eef.or.th ตั้งแต่เดือน มิถุนายนเป็นต้นไป
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.