ไม่พบผลการค้นหา
'เจเซลล์ บาร์บี รอยัล' สาวงามข้ามเพศจากสหรัฐอเมริกา วัย 32 ปี คว้ามงกุฎมิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน 2019 ไปครอง ขณะที่สาวงามข้ามเพศจากไทย คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

จบลงไปแล้วสำหรับการประกวดเวทีสาวงามข้ามเพศระดับนานาชาติ มิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน 2019 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประกวดที่โรงละครทิฟฟานี่โชว์ พัทยา คืนวันที่ 8 มี.ค. โดยสาวงามจากสหรัฐอเมริกา 'เจเซลล์ บาร์บี รอยัล' วัย 32 ปี อาชีพ ผู้ประสานงานชุมชน, HIV Tester คว้ามงกุฎไปครอง

ส่วนรองอันดับหนึ่งคือสาวงามจากประเทศไทย เอสม่อน - กัญญ์วรา แก้วจีน รองอันดับสองได้แก่ ญาญ่า จากประเทศจีน


มิสอินเตอร์เนชันแนลควีน2019 (1).jpg
  • 'เจเซลล์ บาร์บี รอยัล' (ตรงกลาง)

ปีนี้มีสาวงามข้ามเพศจาก 20 ประเทศ ร่วมแข่งขันชิงมงกุฎ เพื่อแสดงจุดยืนเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในระดับสากลทั่วโลก ประเทศที่เข้าร่วมการประกวด ได้แก่ บราซิล แคนาดา จีน เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลาว มาเลเซีย เมียนมา เม็กซิโก เนปาล นิการากัว เปรู ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม เวเนซุเอลา และเจ้าภาพ ไทย

มิสอินเตอร์เนชันแนลควีน2019 ไทย.jpg
  • เอสม่อน - กัญญ์วรา แก้วจีน ตัวแทนประเทศไทย รองอันดับ 1 MIQ


มิสอินเตอร์เนชันแนลควีน2019 จีน.jpg
  • ญาญ่า สาวงามข้ามเพศจากประเทศจีน รองอันดับ 2 MIQ

ขณะที่เจเซลล์ บาร์บี้ รอยัล ถือเป็นตัวเต็งคนหนึ่งในการประกวดครั้งนี้ หลังจากคว้ารางวัลยอดเยี่ยมในรอบการแสดงความสามารถพิเศษมาแล้ว สำหรับรอบตัดสินเมื่อคืนที่ผ่านมาเธอตอบคำถามได้อย่างฉะฉาน

โดยคำถามแรกถามเธอว่า ‘อะไรคือธีมของการประกวดครั้งนี้ และคุณรู้สึกอย่างไร’ เธอบอกอย่างมั่นใจว่า ธีมก็คือความเท่าเทียมของโลก ทุกคนเท่าเทียมกันหมด และเราเกิดมากับสิทธิ์นั้น ไม่ว่าคุณจะสีผิวอะไร ไม่ว่าคุณเลือกจะรักใครหรือแต่งงานกับใคร ไม่ว่าคุณจะนับถืออะไรก็ถาม ทุกคนเท่าเทียมกัน และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมฉันถึงมายืนจุดนี้ ณ วันนี้ ฉันอยากแสดงให้โลกเห็นเป็นครั้งแรกว่าโลกนี้มีความเท่าเทียม เพราะคนอย่างฉันก็สามารถชนะได้เช่นกัน


มิสอินเตอร์เนชันแนลควีน2019 อเมริกา.jpg

ขณะที่คำถามรอบตัดสินถามเธอว่า ‘คุณคิดว่าเรื่องไหน ที่โลกจำเป็นต้องรู้มากที่สุด’ เธอตอบว่า เรื่องที่โลกจำเป็นต้องรู้ ก็คือเรื่อง HIV และ AIDS เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดที่ต้องได้รับการบอกกล่าวให้ทุกคนเข้าใจอย่างถ่องแท้ โลกจำเป็นต้องทราบว่าเรามีทางเลือก คนบางคนอาจจะไม่ทราบว่ามีตัวยาที่ชื่อว่า PEP เพื่อจัดการกับพิษร้ายนี้

ในฐานะ มิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน ฉันขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะขอเป็นกระบอกเสียงส่งผ่านความรู้ในสิ่งนี้ให้โลกได้รับทราบว่า PEP ย่อมาจาก Post - Exposure Prophylaxis และมีเนื้อหาสาระสำคัญว่า คือยาที่คุณต้องรับประทานทุกวัน และมันช่วยคุณได้ มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 90 ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หากคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่มั่นใจว่าจะเป็นผู้ป่วย เอชไอวีหรือเอดส์ คุณมีเวลา 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์เพื่อไปพบแพทย์ และขอยา PEP จากแพทย์ และต้องทานต่อเนื่องจนครบ 30 วัน และจะป้องกันคุณจากการติดเชื้อเอชไอวีได้ โลกจำเป็นต้องทราบเรื่องนี้ และในฐานะมิสอินเตอร์เนชันแนลควีน ฉันขอกระจายความรู้นี้ไปทั่วโลกค่ะ

สำหรับเวทีมิสอินเตอร์เนชันแนลควีน มีจุดยืนเพื่อความเท่าเทียมของโลก การเปิดโอกาสให้แสดงความรู้ความสามารถ และคุณค่า มากกว่าความหมายทางเพศ รวมถึงเป็นกระบอกเสียงให้ LGBT ในประเทศและทั่วโลกยอมรับสิทธิความเท่าเทียมกัน มุมมองโลกต่อเพศทางเลือกเปิดมากขึ้น และสร้างความภาคภูมิใจในตัวตน


มิสอินเตอร์เนชันแนลควีน2019 (2).jpg


สำหรับรางวัลอื่นๆ ได้แก่

  • รางวัลชุดราตรียอดเยี่ยม (Best Evening Gown) ได้แก่ ราฟาเอลา มานฟรินิ ประเทศบราซิล
  • รางวัลชุดแต่งกายชุดประจำชาติยอดเยี่ยม (Best National Costume) ได้แก่ ทิฟฟานี่ โคลแมน ประเทศนิคารากัว
  • รางวัลขวัญใจช่างภาพ (Miss Photogenic) ได้แก่ กานต์วรา แก้วจินต์ ประเทศไทย
  • รางวัล Best Introduction Video ได้แก่ โด นัท ฮา ประเทศเวียดนาม
  • รางวัลนางงามมิตรภาพ (Miss Congeniality) ได้แก่ ญาญ่า ประเทศจีน