คณะกรรมาธิการการค้าแห่งรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา (FTC) ลงมติด้วยคะแนนเสียง 3 ต่อ 2 ให้ปรับเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.55 แสนล้านบาท จาก 'เฟซบุ๊ก' ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 2.2 พันล้านบัญชีทั่วโลก เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา สิ้นสุดกระบวนการไต่สวนที่ยาวนาน 16 เดือน 9 วัน หลังจากเฟซบุ๊กถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน
รายงานชื่อว่า U.S. government issues stunning rebuke, historic $5 billion fine against Facebook for repeated privacy violations ของ 'วอชิงตันโพสต์' ระบุว่าเงินค่าปรับที่เฟซบุ๊กต้องจ่าย ถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 'เดโมแครต' 2 ราย ได้แก่ โรหิต โชปรา และรีเบกกา เคลลี สลอตเธอร์ ระบุว่า ค่าปรับที่ FTC กำหนดถือว่า 'น้อยไป' เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก และผลประโยชน์ที่เฟซบุ๊กได้รับไปจากกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น
โจ ไซมอน ประธาน FTC แถลงว่า การละเมิดผู้ใช้งานของเฟซบุ๊กเกิดขึ้นซ้ำซาก บ่อนทำลายทางเลือกของผู้ใช้ แม้จะเคยมีการให้คำมั่นสัญญาจากผู้บริหารเฟซบุ๊กมาก่อนแล้วในข้อตกลงร่วมกับ FTC เมื่อปี 2011-2012 แต่ก็ยังเกิดกรณีที่เป็นข้อถกเถียงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่เฟซบุ๊กถูกเปิดโปงว่า ปล่อยให้บริษัทเอกชน 'เคมบริดจ์ แอนะไลติกา' เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาต
กรณีดังกล่าวเป็นการดึงข้อมูลผ่านทางแอปพลิเคชันแบบสอบถามเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์สถิติทางการเมือง กระทบต่อผู้ใช้งานเฟซบุ๊กราว 87 ล้านคน และในปัจจุบัน 'เคมบริดจ์ แอนะไลติกา' ปิดตัวลงแล้ว โดยที่อดีตผู้บริหาร 2 รายอยู่ระหว่างต่อสู้คดีทางกฎหมาย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊ก แถลงขอโทษต่อกรณีเคมบริดจ์ แอนะไลติกา ระหว่างเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการไต่สวนข้อเท็จจริงของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 โดยระบุเหตุผลว่า "ผมเริ่มต้นเฟซบุ๊ก ผมเป็นผู้ดูแลมัน และผมก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่" แต่เฟซบุ๊กไม่เคยยอมรับความผิดในข้อหาละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้ใช้
แต่ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กก็ถูกเปิดโปงว่าดำเนินนโยบายด้านข้อมูลซึ่งเข้าข่าย 'หลอกลวง' ผู้ใช้งาน เช่น การไม่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่า 'เบอร์โทรศัพท์มือถือ' ที่เฟซบุ๊กใช้กับระบบยืนยันความปลอดภัย ถูกนำไปใช้ในการขายโฆษณาด้วยเช่นกัน และข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากระบบสแกนใบหน้าในฟซบุ๊กถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้
บทลงโทษที่ผ่านการลงมติของ FTC เมื่อวานนี้ (24 ก.ค.) จะถูกยื่นต่อศาลรัฐบาลกลางเพื่อขออนุมัติและกำหนดกรอบเวลาดำเนินการ ส่วนรายละเอียดในข้อตกลงไกล่เกลี่ยระหว่าง FTC และเฟซบุ๊ก ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่า เฟซบุ๊กต้องเปิดให้เจ้าหน้าที่ด้านการกำกับดูแลเฉพาะด้านได้เข้าถึงการทำงานและการบริหารจัดการในองค์กรเฟซบุ๊กตลอดระยะเวลา 20 ปีต่อจากนี้ เพื่อให้เป็นการตรวจสอบแบบคู่ขนาน และทุกครั้งที่จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ของเฟซบุ๊กเจ้าหน้าที่จะได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบผู้บริหารระดับสูงของเฟซบุ๊กได้ รวมถึงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของโรหิต โชปรา และรีเบกกา เคลลี สลอตเธอร์ ส.ส.พรรคเดโมแครตทั้งสองรายซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในคณะกรรมาธิการไต่สวนฯ วิจารณ์ว่าค่าปรับ 5 พันล้านต่อเฟซบุ๊กนั้นถือว่า "เล็กน้อยเกินไป" อาจไม่ต่างจากการปล่อยให้คนผิดลอยนวล และแค่คำกล่าวขอโทษยังไม่เพียงพอ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรฟ้องร้องเฟซบุ๊กตามกระบวนการทางกฎหมายด้วย ไม่ใช่แค่พึ่งพากระบวนการไต่สวนและเจรจาไกล่เกลี่ย เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือความปลอดภัยด้านสิทธิส่วนตัวของประชาชน
ขณะที่ 'โคลิน สเตรตช์' หัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายของเฟซบุ๊ก ออกแถลงการณ์ว่า ข้อตกลงไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้านสิทธิส่วนบุคคลในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือว่าเปลี่ยนแปลงไปมากจากสิ่งที่เฟซบุ๊กเคยดำเนินการมาในอดีต
ส่วนเจรจาระหว่างเฟซบุ๊กและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) กรณีที่บริษัทถูกกล่าวหาว่าปกปิดข้อมูของหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นเมื่อปี 2015 ได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจาร่วมกันแล้ว โดยเฟซบุ๊กจะจ่ายเงินค่าปรับ 100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 31 ล้านบาท)
ค่าปรับที่เฟซบุ๊กต้องจ่ายในการไกล่เกลี่ยกับ FTC และ SEC ของสหรัฐฯ รวมเป็นเงินทั้งหมด 5.1 พันล้านดอลลาร์ แต่ในขณะเดียวกัน ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของเฟซบุ๊กที่เพิ่งแถลงต่อสาธารณชนก็ชี้ชัดว่า เฟซบุ๊กสามารถทำรายได้มากกว่า 16,900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.23 แสนล้านบาท) ทั้งยังมากกว่าที่นักวิเคราะห์เคยประเมินไว้ก่อนหน้า
เดอะการ์เดียนรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'เดบรา อะโฮ วิลเลียมสัน' นักวิเคราะห์การตลาดของ eMarketer ระบุว่า ข้อตกลงไกล่เกลี่ยกับ FTC ไม่มีผลโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของเฟซบุ๊กมากนัก เพราะบริษัทโฆษณายังคงใช้บริการเฟซบุ๊กต่อไป แต่ท่าทีดังกล่าวอาจเปลี่ยนไปได้ในอนาคต เพราะกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพิ่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเฟซบุ๊กซึ่งถูกกล่าวหาว่า 'ผูกขาดทางการค้า'
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจออนไลน์เพียงรายเดียวที่กำลังถูกเพ่งเล็งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ 'กูเกิล' และ 'แอมะซอน' ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสื่อ ภาคประชาสังคม รวมถึงนักการเมือง ที่มองว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลในจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังไม่มีมาตรการตรวจสอบหรือกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และผู้ใช้งานต่างๆ อาจถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่รู้ตัว
ช่าวที่เกี่ยวข้อง: