เวทีเสวนาระดมความเห็น "นวัตกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง" จัดโดยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และสํานักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า
นางณัชชาภัทร อมรกุล นักวิชาการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กล่าวถึงประเด็นศัพท์เด่นในการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ขณะนี้เกิดนาฏกรรมทางการเมือง คือเป็นเวทีแห่งความฝัน จากกระแสดราม่าของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมให้สนใจมากกว่าสถาบันทางการเมือง โดยศัพท์เด่นทางการเมืองที่เกิด ไม่ว่าเป็นคำว่า งูเห่า บัตรเขย่ง กกต. ธนาธร อีช่อ ฟ้ารักพ่อ ลุงตู่ ตู่พบธร คะแนนเอื้ออาทร นั่งร้านเผด็จการ เผด็จการ ประชาธิปไตย
นายเลิศพร อุดมพงษ์ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เฟซบุ๊ก เป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้มากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน 18-35 ปี โดยคนหนึ่งจะมีมากกว่าหนึ่งแอคเคาท์ ซึ่งเฟซบุ๊กได้ถูกใช้ประโยชน์ทางการเมืองและการเลือกตั้งจากพรรคการเมืองและนักการเมืองจำนวนมาก ยอดฟอลโลวมีความสำคัญมากกว่ายอดไลก์
โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังมาเป็นอันดับหนึ่งมีทั้งยอดไลก์และยอดฟอลโลวมากที่สุด ตามมาด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มียอดไลค์และฟอลโลวอยู่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน นอกจากนี้ยังมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ซึ่งมียอดฟอลโลวมากกว่ายอดไลค์ และที่น่าสนใจคือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มียอดฟอลโลวเพิ่มมากขึ้นหลังการเลือกตั้งอยู่ในหลักแสนคนจนปัจจุบันถึงล้านคน เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มียอด ฟอลโลวเพิ่มมากขึ้น
นายเลิศพร สรุปว่า ผู้คนในสังคมโซเชียลมีเดีย ให้ความสนใจในตัวนักการเมืองมากกว่าพรรคการเมือง โดยเพจที่มีอัตราเติบโตสูงสุด คือเพจของพรรคอนาคตใหม่ และเพจของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพจมีอัตราการเติบโตลดลงมากที่สุดคือเพจของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพจของพรรคการเมืองที่มีคนฟอลโลวมากกว่ากดไลก์ มากที่สุด คือเพจของพรรคอนาคตใหม่ เพจที่มีคนฟอลโลวน้อยกว่ากดไลก์ มากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ เพจของนักการเมืองที่คนฟอลโลวมากกว่ากดไลก์ มากที่สุด เพจของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ รองลงมาคือนายธนาธร และเพจที่มีคนฟอลโลว น้อยกว่ากดไลก์ มากที่สุดคือเพจของนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์
นายเลิศพร ย้ำว่า นอกจากสาระที่ต้องพัฒนาแล้ว ทุกพรรคการเมืองจะต้องปรับตัวในการคิดเรื่องการใช้สื่อโซเชียลอย่างมียุทธศาสตร์ ต้องมีทีมมืออาชีพเข้ามารับผิดชอบในการคิดกลยุทธ์ในเรื่องต่างๆ และทุกพรรคการเมืองและนักการเมือง ควรวางแผนเจาะกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นอกจากวัยรุ่น วัยทำงานให้มากขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนภูมิภาคจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยในส่วนของภาคเหนือพบว่า เพจของพรรคอนาคตใหม่มีผู้ติดตามจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ วิธีการหาเสียงในการเลือกตั้ง คือการได้พบปะเจอะเจอผู้คนแบบหน้าต่อหน้า โดยใช้แอปพลิเคชันไลน์ ในการติดต่อพบปะพูดคุยกันเท่านั้น แต่จะไม่มีการนำเสนอข้อความหรือความคิดเห็นผ่านทางแอปฯ ไลน์ ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อประชาสัมพันธ์ แจ้งข่าว ติดต่อสื่อสาร มากกว่าการใช้เพื่อสร้างอุดมการณ์ความคิดทางการเมือง การหาเสียง การลงพื้นที่หาเสียงแบบเดิมตามบ้านในชุมชนชนบท จึงยังมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้สื่อโซเชียลมีเดียหาเสียง
โดยพรรคเพื่อไทยยังสามารถดูแลพื้นที่และสร้างความสัมพันธ์ได้มากกว่าพรรคการเมืองอื่น ยังมีฐานเสียงผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ที่เข้มแข็งกว่าพรรคการเมืองอื่น ขณะที่พรรคพลังประชารัฐพยายามสร้างนวัตกรรมหาเสียงสร้างแบรนด์ของพรรคผ่านคลิปต่างๆ ให้เป็นที่จดจำของคนในพื้นที่ ทั้งการพูดภาษาท้องถิ่น การแต่งกายแบบท้องถิ่น แต่ยังไม่มีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากนัก
ส่วนบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น จากการศึกษา พบว่าไม่ได้มีผลต่อการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากแบรนด์ของพรรคเพื่อไทยยังเข้มแข็ง เช่นเดียวกับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแม้จะชอบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมากกว่า แต่เมื่อเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวก็ยังคงเลือกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงการเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกว่า พรรคอนาคตใหม่ยังคงใช้การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียกับชนชั้นกลาง นิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1 คนในเมืองจะรู้จักพรรคอนาคตใหม่ผ่านหัวหน้าพรรคการเมือง โดยนายธนาธรจะมีผลต่อคะแนนเสียงที่ได้มาของผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ ขณะที่ป้ายหาเสียงจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนในแบบที่ผ่านมา การซื้อเสียงแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยเฉพาะก่อนมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง และหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้งในบางเขตเท่านั้น