ไม่พบผลการค้นหา
ศิลปินทำคลิปวิดีโอปลอมให้ดูเหมือนว่า 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ประกาศว่าจะครองโลก เพื่อท้าทายกฎของเฟซบุ๊ก หลังเฟซบุ๊กไม่ยอมลบคลิปปลอมของประธานสภาของสหรัฐฯ

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เฟซบุ๊กปฏิเสธที่จะลบวิดีโอปลอมที่มีภาพแนนซี เพโลซี ประธานสภาคองเกรส จากพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ พูดสุนทรพจน์แบบเมาๆ ส่งผลให้เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บิล พาวเวอร์สและแดเนียล โฮว์ ศิลปินชาวอังกฤษ 2 คนออกมาตอบโต้ด้วยการปล่อยวิดีโอปลอมบนอินสตาแกรม ซึ่งเป็นของบริษัทเฟซบุ๊ก โดยมีบริษัทแคนนี เอไอ สตาร์ทอัพด้านโฆษณาของอิสราเอลช่วยทำคลิปวิดีโอนี้ขึ้นมา หลังแคนนี เอไอเคยใช้เทคนิคเอไอสร้างวิดีโอให้ผู้นำโลกมาร้องเพลง Imagine ของจอห์น เลนนอน

วิดีโอปลอมดังกล่าวเป็นภาพที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กพูดกับกล้องโอ้อวดว่ามีแรงจูงใจที่ชั่วร้ายในการทำอาณาจักรออนไลน์ของตัวเอง “ลองจินตนาการดูสักหน่อย คนหนึ่งคนที่สามารถควบคุมข้อมูลที่ถูกขโมยมาจากคนเป็นพันล้านคน ควบคุมความลับของพวกเขา ชีวิตของพวกเขา และอนาคตของพวกเขา” นอกจากนี้ ซักเคอร์เบิร์กในคลิปวิดีโอปลอมยังกล่าวว่า “ผมติดหนี้บุญคุณสเป็กเตอร์ เพราะสเป็กเตอร์ทำให้ผมเห็นว่า ใครที่ควบคุมข้อมูล สามารถควบคุมอนาคตได้”

แม้ในคลิปวิดีโอดังกล่าวจะเป็นหน้าของซักเคอร์เบิร์กอย่างชัดเจน แต่ก็ดูออกโดยทันทีว่าเป็นวิดีโอปลอม เพราะเสียงพูดในคลิปไม่เหมือนกับซักเคอร์เบิร์ก และ “สเป็กเตอร์” ก็เป็นบริษัทชั่วร้ายในภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ โดยวิดีโอนี้มีจุดประสงค์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องโลกดิจิทัล และทดสอบวิธีการที่เฟซบุ๊กจะจัดการกับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนเฟซบุ๊ก

โฆษกของอินสตาแกรมกล่าวว่า วิดีโอปลอมที่เป็นภาพซักเคอร์เบิร์กจะถูกพิจารณาด้วยกฎเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันกับวิดีโอปลอมที่มีภาพเพโลซีและข้อมูลเท็จอื่นๆ หากผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการภายนอกตรวจสอบและพบว่าคลิปดังกล่าวเป็นคลิปปลอม อินสตาแกรมจะคัดกรองไม่ให้คลิปนี้ปรากฏขึ้นมาในส่วน Explore และตามแฮชแท็กต่างๆ

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเคยกล่าวว่า เฟซบุ๊กทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะหาจุดสมดุลระหว่างการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและการส่งเสริมชุมชนที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ และเฟซุบ๊กเชื่อว่าการลดการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นเท็จตอบโจทย์เรื่องความสมดุลนี้

ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กถูกกดดันอย่างหนักให้จัดการกับเนื้อหาที่เป็นข้อมูลเท็จหรือทำให้คนเข้าใจผิดบนโซเชียลมีเดีย โดยปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา วิดีโอปลอมของเพโลซีถูกแชร์ออกไปหลายล้านครั้งทั่วเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่นๆ แต่เมื่อมีคนเรียกร้องให้มีการลบวิดีโอดังกล่าว เฟซบุ๊กกลับปฏิเสธที่จะลบ โดยให้เหตุผลว่า คลิปดังกล่าวไม่ได้ละเมิดนโยบายของเฟซบุ๊ก ซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถแสดงออกได้อย่างอิสระบนโลกออนไลน์ ขณะที่ทวิตเตอร์ก็แสดงความเห็นคล้ายกับเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม ยูทูบ ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับกูเกิล ได้ลบวิดีโอปลอมของเพโลซีออกไปแล้ว

ซักเคอร์เบิร์กและเจ้าหน้าที่เฟซบุ๊กระบุว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ เอไอ จะช่วยให้เฟซบุ๊กสามารถควบคุมไม่ให้ข้อมูลเท็จแพร่กระจายไป แต่วิดีโอปลอมของเพโลซีกลับแสดงให้เห็นว่า บริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ มีความเห็นที่ไม่ตรงกันว่า เนื้อหาแบบไหนที่ควรถูกลบออกจากระบบ และวิดีโอปลอมของซักเคอร์เบิร์กก็แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีก็สามารถนำมาใช้สร้างข้อมูลเท็จได้ จนนักวิจัยหลายคนแสดงความกังวลว่า เทคโนโลยีดีพเลิร์นนิงจะถูกนำมาใช้สร้างวิดีโอ “ดีพเฟก” จนคนไม่สามารถแยกออกได้ว่าคลิปวิดีโอไหนเป็นของจริงหรือปลอม

 

ที่มา : New York Times, The Guardian