ไม่พบผลการค้นหา
กอ.รมน. เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ควบคู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มุ่งสร้างอากาศสะอาดให้คนไทย

การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก P.M. 2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลให้สำคัญในการเร่งดำเนินการคลี่คลายปัญหา โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน พร้อมลงพื้นที่ภาคเหนือติดตามสถานการณ์พร้อมมอบนโยบายรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน PM2.5 

 ทั้งนี้ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ./รอง ผอ.รมน. ได้เน้นย้ำให้ กอ.รมน. เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยใช้กลไกของ กอ.รมน. ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมอบให้ กอ.รมน.ภาค 3 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่าภาค 3 บูรณาการร่วมกับกองทัพภาคที่ 3, กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมฝนหลวง, การบินเกษตร และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่ออำนวยการเฝ้าระวังติดตามรวมทั้งประเมินสถานการณ์ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา รวมทั้งบูรณาการการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค 

   ศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่าภาค 3 ได้เริ่มปฏิบัติการมาตั้งแต่ ธ.ค.66 โดย ทภ.3 ได้จัดกำลังพลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่า โดยบูรณาการ ประสานงานและเสริมการปฏิบัติกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และจัดชุดปฏิบัติการรณรงค์สร้างการรับรู้ แบบเคาะประตูบ้าน ในพื้นที่เป้าหมายระดับตำบลที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซาก พร้อมร่วมลาดตระเวนป้องปรามการก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าแปลงใหญ่ ป่าไฟไหม้ซ้ำซาก รอยต่อระหว่างจังหวัดพื้นที่เปราะบาง ล่าสุดในห้วงเดือน ก.พ.67 ได้บูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกําลังจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาทันต่อเหตุการณ์และพร้อมสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดได้อย่างทันท่วงที ในขณะเดียวกันได้มุ่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนด้วยการจัดชุดประชาสัมพันธ์ลงพื้นที่สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร และจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างการตระหนักรู้เพื่อช่วยกันลดมลพิษลดฝุ่นละออง พร้อมให้ความรู้ถึงตัวบทกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน 


  ผลการปฏิบัติในห้วงที่ผ่านมา ( ธ.ค.66 - ม.ค. 67 ) ศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่า ภาค 3 ได้จัดประชุมประสานงานร่วมกับส่วนราชการและชุมชน 85 ครั้ง, จัดชุดปฏิบัติการเข้าควบคุมไฟป่า 46 ครั้ง, ลาดตระเวนเฝ้าระวังและร่วมกับมวลชนทำแนวกันไฟ 144 ครั้ง, ดำเนินการร่วมกับนักศึกษาวิชาทหารในพื้นที่ลงรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่เสี่ยง 17 ครั้ง, จัดชุดรณรงค์สร้างการรับรู้ป้องกันปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง 234 ครั้ง และบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิง 42 ครั้ง พบว่ามีค่าจุดความร้อนลดลงร้อยละ 47.83 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในห้วงเวลาเดียวกัน


  อย่างไรก็ตาม กอ.รมน. จะเดินหน้าบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมวกควันอย่างยั่งยืน โดยจัดทำเป็นโมเดลในระดับจังหวัด ระดับภาค และขยายสู่ระดับประเทศ ภายใต้โครงการ "ตื่น ฟื้น คืนชีวิตสัมพันธ์" เน้นการลดเชื้อเพลิงในพื้นที่ด้วยการรับซื้อวัสดุทางการเกษตรที่เป็นเชื้อเพลิงแล้วนำไปผลิตหรือเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ควบคู่การสื่อสารสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบในทุกช่องทาง มุ่งสร้างอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน

.......................6 กุมภาพันธ์ 2567