อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงผลการสอบของคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต่อกรณีการมาช่วยราชการของ ส.ต.ท.หญิง เป็นการขอมาช่วยราชการเอง พิจารณาแล้วเหมาะสมและได้มีคำสั่งให้พ้นหน้าที่โดยมีผลย้อนหลัง ว่าการกระทำดังกล่าวถือว่าจบ แต่คำถามที่สังคมสงสัย คือกรณีแบบนี้มีอีกกี่คน และใครควรต้องรับผิดชอบ กอ.รมน.เองใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ประชาชนทุกข์ยากลำบากจากสภาวะเศรษฐกิจแค่ไหน แต่ยังต้องจ่ายภาษีทุกวัน เพื่อให้ผู้มีอำนาจบางคนถลุงเงินภาษีไปในทางที่ไม่เหมาะสม
ที่ผ่านในขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม บริหารประเทศ มีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 312/2562 แบ่งโครงสร้างกอ.รมน.ใหม่ 17 หน่วยงาน ให้หน้าที่อำนาจส่วนงานศูนย์ประสานการปฏิบัติ กอ.รมน.ภาค-จังหวัด ขึ้นตรงกับ ผอ.กอ.รมน. ส่วนอัตรากำลังให้ ผอ.กอ.รมน. จัดสรรจำนวนตามที่ ครม.กำหนดให้เพียงพอกับความจำเป็นและยังให้หน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนตามที่ได้รับการประสานและร้องขอ
อรุณี กล่าวว่าอำนาจของ กอ.รมน. ที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ก่อให้เกิดคำถามว่า กอ.รมน. เข้าไปแทรกแซงการบริหารงานของราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่ เพราะมีทั้ง กอ.รมน.ภาคตามพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาค ส่วนในระดับจังหวัด แม้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เช่นกฎหมายเดิม แต่จะเพิ่มจังหวัดทหารบก (หรือมณฑลทหารบกที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัด) โดยแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการฝ่ายทหาร เพราะทหารพยายามผูกโยงว่าทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับมิติด้านความมั่นคง แทนที่ กอ.รมน. จะเป็นหน่วยงานที่พึ่งที่หวังของประชาชนเพราะมีเจ้าหน้าที่อยู่ทุกจังหวัด แต่กลับเป็นหน่วยงานที่เป็นเสมือนดินแดนสนธยาที่ประชาชนยากจะเข้าถึงและตรวจสอบ กรณีของ ส.ต.ท หญิง คือภาพสะท้อนของสิ่งเหล่านั้น
“วันนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แม้จะอยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกฯ และเป็น ผอ.กอ.รมน.ด้วย มีอำนาจเต็มมือ ควรต้องตระหนักเร่งสั่งการ ตรวจสอบทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นกำลังพลผู้ปฏิบัติงานในอัตราช่วยราชการแบบปีต่อปี ซึ่งจะเป็นกำลังพลส่วนใหญ่ประกอบด้วย พลเรือน ตำรวจ และทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำลายระบบกาฝากทั้งองคาพยพ ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบเป็นรายกรณีแล้วจบไป” อรุณี กล่าว