ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี ประชุม ครม.ผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กระทรวงพลังงานเสนอมาตรการใช้ไฟฟรี ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ชงมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จับตาขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนครบกำหนด 30 เม.ย.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ประชุมอยู่ที่กระทรวง 

โดยมีวาระสำคัญที่จะพิจารณา คือ กระทรวงพลังงาน จะเสนอ ขยายมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรี สำหรับครัวเรือนขนาดเล็กที่ติดตั้งมิเตอร์ขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ 1 ล้านราย ให้ใช้ไฟฟ้าฟรีเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จากเดิม 90 หน่วยต่อเดือน โดยจะครอบคลุมระหว่างช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2563  

ส่วนครัวเรือนที่ติดตั้งมิเตอร์ขนาดเกินกว่า 5 แอมป์ขึ้นไป จะให้ใช้ไฟฟ้าฟรีในส่วนที่เกินกว่าที่ใช้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 แต่ต้องไม่เกิน 800 หน่วย โดยส่วนที่เกิน 800 หน่วยจะคิดปริมาณลดลง 50% และหากเกินกว่า 3,000 หน่วย จะคิดปริมาณลดลง 30% โดยจะหน่วยที่ใช้ไฟฟ้าจากการคิดส่วนลดแล้วมาคำนวณค่าไฟฟ้าตามปกติ

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยเป็นการงดเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรายปี ให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ คาดว่า จะช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมได้กว่า 56,598 รายทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการจากระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอ ครม. พิจารณามาตรการระยะสั้น โดยรัฐเข้าไปช่วยร้อยละ80 ของราคาห้องเย็นซื้อกุ้งจากเกษตรกร ซึ่งฟาร์มเกษตรกรต้องไม่ใช่ฟาร์มขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ผลผลิตกุ้งส่วนที่เกษตรกรเป็นเจ้าของ นำฝากห้องเย็นไว้ค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บในห้องเย็นในระยะเวลา 3 เดือน โดยรัฐช่วยจ่ายร้อยละ 80

สำนักงบประมาณ เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 หลังทำหนังสือให้ส่วนราชการปรับโอนงบประมาณที่ยังไม่ทำสัญญาผูกพัน เพื่อนำมาใช้ป้องกันโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นงบด้านอบรมสัมมนา การจัดกิจกรรม การเดินทางไปประชุม ดูงานต่างประเทศ ส่วนงบลงทุนเป็นโครงการที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน และยังไม่ได้ลงนามสัญญา เช่น กองทัพเรือชะลอแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 ในงบปี 2563 ออกไปก่อน ทำให้มียอดงบประมาณจากทุกหน่วยงานรวมจำนวน 80,000 – 100,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนพิธีการงบประมาณคาดการณ์ว่าใช้เงินได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 

ขณะเดียวกัน จับตา ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะครบอายุ 30 เม.ย นี้ ซึ่งไม่มีในวาระการประชุม แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.สามารถหยิบยกมาหารือเพื่อขอความคิดเห็นจากที่ประชุมได้