ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบสำนักงบประมาณเสนอ เคาะโอนงบ'63 วงเงิน 100,395 ล้านบาท สู้โควิด-19 เผยตัดจากคลังมากสุด 3.6 หมื่นล้าน กลาโหมหั่นงบยุทโธปกรณ์เรือดำน้ำ 1.8 หมื่นล้านสมทบ ดึงจากทุกเก๊ะทุกกระทรวง คาดร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ เข้าสภา 28 พ.ค.

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 ได้เห็นชอบหลักการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 100,395 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่โอนไปยังงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี2563 เพื่อนำไปใช้จ่ายในกรณีจำเป็นทั้งการต่อสู้และรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือภัยแล้ง ต่อไป

ทั้งนี้ วงเงินตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายฯ ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนที่ส่วนราชการตัดงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ได้รับจัดสรรไปก่อนหน้านี้มาให้ โดยหน่วยงานที่ตัดโอนงบประมาณมาให้สูงสุดได้แก่ กระทรวงการคลัง 36,000 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม 18,000 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 11,000 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 6,000 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 5,000 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 2,900 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2,600 ล้านบาท กลุ่มจังหวัด 2,500 ล้านบาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,900 พันล้านบาท กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2,100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ส่วนของกระทรวงกลาโหมที่ตัดมาให้ครั้งนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการเลื่อนเวลาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ เช่น เรือดำน้ำ รวมถึงรายการทดแทนต่างๆ ออกไปก่อน รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ส่วนที่โอนมาจากกระทรวงการคลังเป็นการตัดมาจากงบชำระต้นเงินกู้ของปี 2563

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงบประมาณจะดำเนินการตามขั้นตอนคือเปิดรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 15 วัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ จากนั้นเสนอที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ในวันที่ 12 พ.ค. 2563 และนำเข้าสภาพิจารณาวาระที่ 1 ในวันที่ 28 พ.ค. 2563

อย่างไรก็ตาม ครม. ไม่ได้มีการหารือถึงกรณีที่อาจจะไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร์ไม่ได้เนื่องจากเหตุการณ์โรคระบาด เพราะคาดว่าทางสภาผู้แทนจะจัดการเรื่องที่ประชุมได้ เนื่องจากการประชุมในครั้งที่จะมาถึงนี้เป็นการประชุมห้องใหญ่ ซึ่งสามารถจัดที่นั่งเว้นระยะห่างได้ ไม่ใช่การประชุมห้องประชุมสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เหมือนสมัยประชุมที่ผ่านมา   

เคาะจาก 3 ทาง จาก 8 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็นกว่า 1 แสนล้านโยกเข้างบกลาง

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเอกสารสรุปผลการประชุม ครม. วันที่ 21 เม.ย. 2563 พบว่ามีการพิจารณาเรื่องการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยระบุว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ให้นำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... โดยให้สำนักงบประมาณนำข้อเสนอที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรค 2 พร้อมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณของหน่วยงาน

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย อ้างตามที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปฏิทินการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2563 โดยตามปฏิทินฯ กำหนดให้สำนักงบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวันที่ 21 เม.ย. 2563 นั้น

สำนักงบประมาณรายงานว่า หน่วยรับงบประมาณ ได้ส่งรายละเอียดการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านความเห็นชอบจากรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ให้สำนักงบประมาณ จำนวน 84,814.3956 ล้านบาท ต่อมาสำนักงบประมาณได้พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 โดยงบประมาณและรายการที่นำไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ประกอบด้วย 

  • 1) รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพัน หรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เม.ย. 2563 อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ การดำเนินกิจกรรม (Event) 
  • 2) รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย อาทิ รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เม.ย. 2563 และ/หรือไม่สามารถลงนามได้ภายในวันที่ 31 พ.ค. 2563 รายการที่สามารถชะลอการดำเนินการโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2563  
  • 3) งบประมาณที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ หรือมีเงินรายได้เพียงพอของหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐและทุนหมุนเวียน 

ลำดับถัดมา สำนักงบประมาณได้ตรวจสอบข้อมูลหลักฐานการดำเนินงานตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้รับจากหน่วยรับงบประมาณ และสถานะการก่อหนี้รายจ่ายลงทุนเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงการบริหารงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่จำเป็นในการให้บริการสาธารณะภาครัฐ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามสิทธิและสวัสดิการเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่คำนึงถึงการสร้างงานและรายได้ในระดับพื้นที่ ตลอดจนรายจ่ายตามข้อผูกพันต่าง ๆ ที่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน


เงินโอน 100,395 ล้านบาท มาจากกระทรวง-หน่วยงานรัฐใดบ้าง

กระทั่งได้สรุปผลการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... จำนวน 100,395 ล้านบาท จำแนก ดังนี้   

1) งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ (Function) จำนวน 46,924 ล้านบาท โดยกรณีหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐและทุนหมุนเวียน สำนักงบประมาณได้พิจารณานำงบประมาณมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ในจำนวนเท่ากับข้อเสนอของหน่วยงานดังกล่าว

ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี 1,149 ล้านบาท, กระทรวงกลาโหม 17,761 ล้านบาท,กระทรวงการคลัง 778 ล้านบาท, กระทรวงการต่างประเทศ 63 ล้านบาท, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 193 ล้านบาท, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 596 ล้านบาท, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 1,779 ล้านบาท, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,165 ล้านบาท, กระทรวงคมนาคม 3,454 ล้านบาท, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 669 ล้านบาท, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 584 ล้านบาท, กระทรวงพลังงาน 38 ล้านบาท, กระทรวงพาณิชย์ 292 ล้านบาท, กระทรวงมหาดไทย 4,924 ล้านบาท, กระทรวงยุติธรรม 395 ล้านบาท, กระทรวงแรงงาน 32 ล้านบาท, กระทรวงวัฒนธรรม 207 ล้านบาท, กระทรวงศึกษาธิการ 4,792 ล้านบาท,กระทรวงสาธารณสุข 938 ล้านบาท, กระทรวงอุตสาหกรรม 140 ล้านบาท, ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงและหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี 784 ล้านบาท, จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 2,537 ล้านบาท, รัฐวิสาหกิจ 964 ล้านบาท, หน่วยงานของรัฐสภา 432 ล้านบาท, หน่วยงานของศาล 49 ล้านบาท, หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 156 ล้านบาท, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,943 ล้านบาท, หน่วยงานอื่นของรัฐ 12 ล้านบาท และสภากาชาดไทย 97 ล้านบาท 

2) งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 14,237 ล้านบาท ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ประกอบด้วย แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 724 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 1,210 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 15 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 124 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 148 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2,162 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา ผู้ติดยาเสพติด 406 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ 175 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 6,342 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล 32 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 484 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค 1,396 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 536 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 61 ล้านบาท และแผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 416 ล้านบาท  

3) งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 2,622 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำทั้งจำนวน สำนักงบประมาณได้พิจารณานำงบประมาณมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... ในจำนวนเท่ากับข้อเสนอของทุนหมุนเวียน ประกอบด้วย ทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล 206 ล้านบาท, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 201 ล้านบาท, กองทุนยุติธรรม 5 ล้านบาท, ทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล 2,416 ล้านบาท, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 1.3 ล้านบาท, กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำหรับกองทุนคุ้มครองเด็ก 4.5 ล้านบาท, กรมกิจการผู้สูงอายุ สำหรับกองทุนผู้สูงอายุ 10.5 ล้านบาท และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2,400 ล้านบาท 

4) งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 36,612 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 35,693 ล้านบาท และรายจ่ายชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวน 919 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำทั้งจำนวน 

สำนักงบประมาณ เงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน แท็กซี่ ประชาชน โควิด

ระบุชัดโอนเข้างบกลางรายการสำรองจ่ายฉุกเฉินจำเป็น เน้นแก้โควิด-ภัยพิบัติ

อย่างไรก็ตาม งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ ที่นำไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... และงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับจากการโอนและนำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ดังกล่าวข้างต้น มีผลต่อสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาลรับภาระต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี และสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบสัดส่วนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563

สำหรับเป้าหมายการนำงบประมาณรายจ่ายที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... จำนวน 100,395 ล้านบาท เป็นการนำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น 

นอกจากนี้ ในรายงานของสำนักงบประมาณยังระบุว่า กรณีการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... มีผลให้เป้าหมายหรือตัวชี้วัดแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ลดลงในสาระสำคัญ ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอขอปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 ต่อไป

โดยกรณีงบประมาณรายจ่ายตามข้อเสนอวงเงินของหน่วยรับงบประมาณที่นำมาพิจารณาจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... เป็นงบประมาณรายจ่ายที่สำนักงบประมาณอนุมัติเงินจัดสรรไปยังหน่วยรับงบประมาณแล้ว แต่หน่วยรับงบประมาณยังมิได้เบิกจ่ายเงินจากคลัง และงบประมาณรายจ่ายในลักษณะเงินอุดหนุนเพื่อเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือเป็นรายได้ ของหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐ ทุนหมุนเวียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหน่วยรับงบประมาณได้เบิกจ่ายเงินจากคลังแล้วทั้งจำนวนและบางส่วน เพื่อให้การจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณามอบหมายให้สำนักงบประมาณประสานหน่วยรับงบประมาณดำเนินการนำเงินจัดสรรที่ผ่านการพิจารณา มาส่งคืนในระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Fiscal Management Information System : GFMIS) ที่หน่วยรับงบประมาณส่วนกลาง โดยสำนักงบประมาณจะประสานกรมบัญชีกลางในการดำเนินการลดยอดเงินจัดสรร ระหว่างวันที่ 22 - 30 เม.ย. 2563 เพื่อประมวลข้อมูลการจัดสรรคืนและนำไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :