ไม่พบผลการค้นหา
รมว.คลังจ่อชงแจกเงินเกษตรกรครัวเรือนละ 5,000 บาท/เดือน เข้าครม.สัปดาห์หน้า ย้ำขอเวลาคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เคาะรายละเอียด แจงอยู่ในกรอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม!

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง เกี่ยวกับความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคาะมาตรการเยียวยาเกษตรกร เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือ 15,000 บาทต่อทะเบียนเกษตรกร ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 1.35 แสนล้านบาทนั้น เบื้องต้นจะต้องมีการนำเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณารูปแบบว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เชื่อว่าจะสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 เม.ย. 2563 นี้

ทั้งนี้ ตามรายละเอียดที่กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการนำเสนอเบื้องต้นยังอยู่ในกรอบของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรก 6 แสนล้านบาทใช้สำหรับดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 และอีก 4 แสนล้านบาท สำหรับการดูแลเศรษฐกิจ

“มาตรการแจกเงินเกษตรกร จะต้องมีการเข้าหารือในคณะกรรมการกลั่นกรองก่อน เนื่องจากจะใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท อาจจะเป็นไปได้ว่าอาทิตย์หน้าเรื่องจะถึง ครม. ส่วนเงื่อนไขสุดท้ายจะเป็นอย่างไรให้ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก่อน กระทรวงเกษตรจะกำหนดวงเงินใช้งบประมาณ จะรู้ว่าตัวเลขเป็นอย่างไร คลังก็จะมากำหนดงบประมาณว่าต้องใช้เงินจาก พ.ร.ก.ควรเป็นเท่าไหร่” นายอุตตม กล่าวว่า

คลังประชุมแบงค์รัฐเรื่องมาตรการเยียวยา
  • อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอุตตม กล่าวว่า มาตรการช่วยเกษตรกรจะยึดจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯเป็นหลัก เพราะมีการขึ้นทะเบียนมาโดยตลอด จึงต้องเริ่มที่จุดนี้ก่อน ส่วนเรื่องโครงการสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระแจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ผ่านการลงทะเบียนเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน วันนี้เข้าสู่การทบทวนสิทธิ จะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ระยะการจ่ายเงิน 3 เดือน ส่วนวงเงินจะออกมาเท่าไหร่ ขอให้การทบทวนสิทธิเสร็จก่อนจะเห็นภาพชัด

พร้อมกันนี้ยังแสดงความมั่นใจว่า วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะเพียงพอดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกู้เพิ่ม โดยในหลักการของ พ.ร.ก.สำหรับเยียวยา 6 แสนล้านบาท ถ้าไม่พอก็สามารถเกลี่ยเงินบางส่วนจากพ.ร.ก. ในส่วนของดูแลเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท มาช่วยได้ตามความจำเป็น

ส่วนการชำระคืนหนี้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะยังไม่รู้จะต้องกู้มาใช้เท่าไหร่ อาจจะไม่กู้ถึง 1 ล้านล้านบาทก็ได้ ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อยู่ระหว่างการเตรียมแผน

ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น เงินกู้ฉุกเฉินของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท/ธนาคาร ขณะนี้มีประชาชนจองสิทธิเต็มทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะมีการขยายเพิ่มหรือไม่นั้น ยังต้องพิจารณาว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากจะมีซอฟต์โลนก้อนใหม่ 9 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะออกมา

คลังประชุมแบงค์รัฐเรื่องมาตรการเยียวยา
  • ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก 55,000 ล้านบาทปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ ส่วนที่ 2 วงเงิน 80,000 ล้านบาทให้กับนอนแบงก์ มีปริมาณที่คนที่จองสิทธิ์เกินวงเงินแล้ว ส่วนอีก 10,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อท่องเที่ยว มีการยื่นกู้มาแล้ว 1,600 ราย วงเงิน 8,000 ล้านบาท เหลือ 5,000 ล้านบาทปล่อยทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จองแล้ว 6,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :