ที่อาคารรัฐสภา ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวชี้แจงกรณีเมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) พรรคมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อม ส.ส. พรรคพลังประชารัฐในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส รวม 21 คน ออกจากพรรค
เหตุสืบเนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส และคณะ ส.ส. เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรค และหากทางพรรคไม่ยินยอมตามคำเรียกร้องจะเกิดปัญหาแน่ แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. มองว่าการเรียกร้องดังกล่าวจะสร้างปัญหาและความขัดแย้ง ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพรรค จึงได้เรียกประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร. 17 ราย และ ส.ส. นอกพรรค 61 ราย รวมเป็น 78 ราย
ผลการประชุมร่วมเห็นว่า เพื่อรักษาหลักการ ความเป็นเอกภาพ เสถียรภาพ และอุดมการณ์ของพรรค จึงมีมติตามข้อบังคับ ที่ 54 (5) กรณีที่เหตุร้ายแรง จึงให้ขับ ร.อ. ธรรมนัส พร้อมคณะ รวม 20 คน ออกจากพรรค ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 63 เสียง ถือเป็นเสียง 3 ใน 4 ของที่ประชุม และอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารยื่นให้สำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 21 คน ยังคงปรากฏชื่อเป็นสมาชิกของพรรคอยู่ในเวลานี้ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (9) กำหนดให้ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน
"ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ดีกว่ามีจำนวน ส.ส. มากแต่มีความขัดแย้งกัน" ไพบูลย์ กล่าว
พร้อมมองว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปเพื่อรักษาสมาชิกส่วนมากที่เหลืออยู่ของพรรคเป็นหลัก ถือเป็นวิวัฒนาการและก้าวสำคัญ ที่จะทำให้พรรคเปลี่ยนแปลงไปในสิ่งที่ดีกว่า
หลังจากนั้น ไพบูลย์ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าว โดยระบุว่าการที่ ร.อ.ธรรมนัส ยกขบวนออก ไม่เกี่ยวกับการยุบสภา หรือจะทำให้สภาล่ม เพราะพรรค พปชร. ยังมีอีกร้อยกว่าเสียง บวกกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่ง และยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ยังเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรคต่อไป ส่วนตำแหน่งที่ว่างลงของ ร.อ.ธรรมนัส ก็จะให้รักษาการเข้ามาทำหน้าที่ และจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการกำหนดวันที่จะประชุมพรรค เพื่อตั้งกรรมการบริหารแทนที่ออกไป
ทั้งนี้ ไพบูลย์ ยังเผยว่า แม้จะไม่สามารถร่วมงานกันในฐานะสมาชิกพรรค แต่ยังสามารถร่วมงานกันในสภาฯ ได้ ส่วนเรื่องอุดมการณ์ส่วนตัวของ ร.อ.ธรรมนัส หรือแนวโน้มที่จะย้ายไปอยู่พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น ตนขอให้ไปถามเจ้าตัวเอาเอง
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็รู้สึกเห็นใจทั้งพรรคการการเมืองที่ต้องเสียส.ส. รวมถึงคนที่ถูกขับออกจากพรรค และในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องของจำนวนส.ส.ในสภา เนื่องจากการประชุมต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 238 เสียง ซึ่งการที่ ส.ส. 21 คน ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังมีเสียงเพียงพออยู่
โดยขณะนี้ มีจำนวนเสียงอยู่ที่ 254 เสียง แต่ก็ยอมรับว่า จำนวนเสียงดังกล่าวถือว่าค่อนข้างปริ่มน้ำ ดังนั้นการประชุมสภาจึงต้องควบคุมเสียงให้ได้ ส่วนการอภิปรายทั่วไป ที่ฝ่ายค้านเตรียมจะยื่นขอเปิดญัตติก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เนื่องจากการอภิปรายไม่ได้มีการลงมติ
ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความเห็นกรณี 21 ส.ส.ที่ ถูกขับออกจากพรรค ว่า หลังจากนี้คงต้องมีการประชุมหารือกันในพรรคเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นทะเลาะกัน
ส่วนกระแสข่าวที่คาดการณ์ว่า ตนจะได้นั่งเลขาธิการพรรค สมศักดิ์ เผยว่า คงเป็นไปไม่ได้เพราะส่วนตัวก็ไม่คิดที่จะทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว และเห็นว่ายังมีอีกหลายคนที่มีความเหมาะสมในการนั่งเลขาธิการพรรค และยังคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่มีกระแสข่าวว่า คนที่เหมาะสมเป็นเลขาธิการพรรคคือกลุ่มสามมิตร
ส่วนคนที่จะนั่งเลขาธิการพรรคจะเป็น อนุชา นาคาศัย หรือไม่นั้น สมศักดิ์ ระบุว่า คงต้องถามความสมัครใจของเจ้าตัวก่อน แต่ อนุชา ก็เคยเป็นเลขาธิการพรรคมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ขออย่ามองทุกเรื่องเป็นเรื่องของความขัดแย้ง และมองว่าการเมือง ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของทุกคน และเห็นว่าทุกอย่างสามารถพูดคุยกันได้