ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดประชุมปฏิบัติการการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจกรอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนฯ รุ่นที่1และรุ่นที่ 2 จำนวน 11 เครือข่าย ได้แก่ ม.ลัยศรีปทุม ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ มูลนิธิลำปลายมาศ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ม.ลัยนเรศวร มรภ.กาญจนบุรี มรภ.ภูเก็ต มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม มูลนิธิสยามกัมมาจล และสพป.1สุรินทร์ โดยมีโรงเรียนขนาดกลางเข้าร่วมพัฒนาตนเองทั้งสิ้น 733 แห่ง
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนฯ เรียกชื่อย่อว่า “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” หัวใจของโครงการนี้ คือการยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้กับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ภายใต้เป้าหมายความตั้งใจของ กสศ.ที่ให้โอกาสและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ดังนั้น การทำงานของโครงการฯ ที่ได้เครือข่ายมาร่วมกันทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาตนเองของโรงเรียนด้วยตัวของโรงเรียนเอง จึงมีข้อสังเกตุ 3 ประเด็น 1.คุณค่าของโครงการ 2.ฐานและเป้าของปฏิบัติการคือโรงเรียน และ3.การสนับสนุน เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวถึงคุณค่าของโครงการฯ ว่า คุณค่าที่โครงการนี้ต้องสร้างให้เกิดขึ้น คือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยเหลือเด็กที่มาจากครอบครัวด้อยโอกาส และสร้างศักดิ์ศรีครู ให้กับครูที่มีวิญญาณทำเพื่อศิษย์ เพราะครูที่มีวิญญาณนักเรียนรับรู้ได้ ซึ่งโรงเรียนจะพัฒนาครูและผู้บริหารด้วยกระบวนการ Q-PLC โดยการจะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ต้องพัฒนาจากฐาน ทั้งนี้ ฐานในการพัฒนาสิ่งสำคัญต้องปฏิรูปการเรียนรู้ ถ่ายทอดและสร้างให้นักเรียนมีจริตเรื่องการแบ่งปันช่วยเหลือคนอื่นจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ในชั้นเรียน ซึ่งโรงเรียนใช้เทคโนโลยีช่วยลดภาระตรงนี้ได้
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นข้อสังเกตุที่สองฐานและเป้าของปฏิบัติการคือโรงเรียนพัฒนาตนเอง ที่มาร่วมกันพัฒนาโรงเรียนด้วยความสมัครใจ มีแรงบันดาลใจที่อยากจะให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง ด้วยความตั้งใจ ซึ่งทีมโค้ช หรือพี่เลี้ยงที่มาจากเครือข่ายทั้ง 11 แห่ง ทำหน้าที่เข้าไปช่วย อย่าเข้าไปเพื่อสอนไปชี้แนะให้ทำตามรูปแบบความคิดของตนเอง แต่โครงการต้องทำให้โรงเรียนเป็น “ชุมชนเรียนรู้” (Learning Community) ให้ครูเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเรียนรู้ ทำงานร่วมกับผู้อำนวยการ และครูคนอื่นๆ และต้องเป็น “ศูนย์เรียนรู้” ให้แก่ ผู้อำนวยการ ครู นักเรียน พ่อแม่ ผู้นำชุมชน เขตพื้นที่การศึกษา กระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น นอกจากนั้น โรงเรียนต้องเป็นเครือข่าย ในความหมายโรงเรียนในฐานะเป็นชุมชนเรียนรู้ จึงต้องเป็นโรงเรียนที่เรียนรู้ (Learning Organization) และที่สำคัญที่สุดของการเป็น Whole School Approach โรงเรียนต้องมีระบบนิเวศ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วย
ประธานอนุกรรมการกำกับทิศฯ กล่าวว่า การสนับสนุนจากโครงการต่อการพัฒนาโรงเรียน พี่เลี้ยงหรือโค้ช (Q-Coach) ต้องไม่ใช่เจ้าสำนัก เป็นการทำงานในลักษณะสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน (Q-Network) โดยนำระบบ IT (Q-Info) มาเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน เพื่อให้โรงเรียนทำงานง่ายขึ้น หนุนเสริมเด็กได้มากขึ้น ซึ่งโครงการในรุ่นที่ 2 นี้ จะมีระบบประเมินเพื่อพัฒนานักเรียน (Q-Classroom) ในลักษณะ Formative Assessment) โดยจะมีทีม TDRI เข้ามาช่วย พร้อมทั้งจะนำรูปแบบการประเมินเพื่อหนุนการพัฒนาโรงเรียน (DE – Developmental Evaluation) เพื่อหนุนการเรียนรู้ของภาคี ในครั้งนี้ด้วย
“การประชุมใน 2 วันนี้ เพื่อการเตรียมการดำเนินงานโครงการในรุ่นที่ 2 โดยการนำทีมโค้ชทั้ง 2 รุ่น มาทำงานร่วมกัน จากการทำงานมา 1 ปี เกิดการเรียนรู้สูงมากมีกำลังใจที่เชื่อได้ว่าการศึกษาไทย จะไม่สิ้นหวัง สามารถที่จะเดินหน้าพัฒนาต่อไปได้ โดยตัวขับเคลื่อนคือโรงเรียน ซึ่งมีครูเป็นตัวตั้ง ดังนั้น เมื่อเกิดการทำงานร่วมกันทั้งโครงการรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จะเกิดการเรียนรู้ข้ามเครือข่ายทั้งวิธีบริหารจัดการ เทคนิคที่ดีที่ทำให้โรงเรียนใช้แล้วสนุก ฉะนั้น จุดแข็งที่เป็นความงดงามเรื่องหนึ่งคือโค้ชมีความแตกต่างหลากหลายทั้งวิธีการคิดและเป้าหมาย จึงหวังว่า โรงเรียน 733 แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง 10% ที่ดูแลเด็กค่อนข้างด้อยโอกาสจะเปลี่ยนโฉมการศึกษาของเด็ก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทั้ง 100% โดยร่วมกันหารูปแบบการเรียนที่ทำให้เด็กครบเครื่อง เป็นพลเมืองที่มีพลัง มีความสามารถของประเทศไทย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหัวใจของการพัฒนาอยู่ที่โรงเรียน ครู และผู้บริหาร” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว