ที่ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) และภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา จัดประชุมหัวข้อ “สมรรถนะครูตำรวจตระเวนชายแดนกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ภายใต้โครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยมีผู้แทนอาจารย์จาก 4 สถาบันเครือข่ายที่ทำหน้าที่พัฒนาและปรับหลักสูตรการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณวุฒิทางวิชาชีพครู ตชด. ในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏลย และมหาวิทยาลัยทักษิณ เข้าร่วมประชุม
พล.ต.ท.วิชิต ปักษา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า บช.ตชด. ได้ส่งตำรวจไปเป็นครูสอนเด็กในถิ่นทุรกันดาร และก่อตั้งโรงเรียนแห่งแรกเมื่อปี 2499 ปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัด ตชด. 220 แห่ง จัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป มีนักเรียน 26,577 คน มีครู ตชด. 1,467 คน จากผลการประเมินพบว่าครูจำนวนหนึ่งยังไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา เพราะต้องใช้ระยะเวลาเดินทางมาก บางช่วงเวลาไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้ครูไม่สามารถเข้าเรียนต่อหรือเรียนแต่ไม่จบตามแผนการศึกษาปกติที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ ตชด. เห็นความสำคัญของปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น จึงร่วมกับ กสศ. ทำโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การพัฒนาโครงการนี้ เริ่มจากมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นจากครู นักเรียน โรงเรียน เพื่อรับฟังความต้องการและให้เห็นสภาพพื้นที่จริง ก่อนที่จะนำมาออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นลดปัญหาข้อจำกัดของครูตชด.ด้านการเดินทาง และไม่สามารถเรียนในระดับมหาวิทยาลัยตามหลักสูตรปัจจุบันได้ โดยการเรียนการสอนสามารถให้ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว และสื่อออนไลน์ มาเสริมในโครงการนำร่องให้เกิดประโยชน์และพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม
อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า การวิเคราะห์ผลสอบจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ที่ดำเนินการโดย OECD พบว่า การเรียนรู้ของเด็กในเมืองกับชนบทนั้นห่างกันถึง 2 ปีการศึกษา สำหรับเด็กในโรงเรียน ตชด. จัดเป็นเด็กที่อยู่ในโรงเรียนชนบทด้วยเช่นกัน การเรียนรู้อาจเทียบไม่ได้กับเด็กในเมือง เพราะครูที่สอนส่วนใหญ่ไม่มีพื้นฐานมาจากวิชาชีพครูแต่เป็นตำรวจที่มาทำหน้าที่สอนหนังสือ หรือ ครู ตชด. ซึ่งข้อมูลเมื่อ ปี 2562 พบว่ากว่า 50% ยังไม่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี
สอดคล้องกับผลสำรวจของ บช.ตชด.เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 พบว่า ครู ตชด.1,391คน เป็นครูที่มีคุณวุฒิทางการศึกษาและใบประกอบวิชาชีพครู 361 คน และครูที่ยังไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษาและใบประกอบวิชาชีพครู 1,096 คน นอกจากนี้ กสศ. ได้สำรวจความต้องการพัฒนาครูและการเรียนรู้ของเด็กจากครู ตชด. พบครูต้องการความช่วยเหลือ 2 ส่วน คือ 1.พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 2.ต้องการเพิ่มวุฒิการศึกษาทางด้านครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประโยชน์ให้กับโรงเรียนและนักเรียน ทั้งนี้ หากกสศ.สามารถผลักดันให้ครูตชด.พัฒนาตนเองได้ สุดท้ายโอกาสและผลประโยชน์จะเกิดกับเด็กและนักเรียนยากจนด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย
“ครู ตชด. เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สอนเด็กด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ในพื้นที่ห่างไกลติดชายแดน ขณะที่ผลการสอบ O-NET ของเด็กโรงเรียน ตชด. จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาโดยตลอด กสศ. จึงมุ่งหวังให้โครงการนี้เข้าไปช่วยครู ตชด. ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กได้ ผ่าน 2 เรื่อง คือ 1. พัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เติมเต็มทฤษฎีจากคณาจารย์หรือพี่เลี้ยง และ 2. ให้ครูมีโอกาสเพิ่มความรู้และวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยคำนึงถึงบริบทความยากลำบากด้านการเดินทาง ดังนั้นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร 2. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 3. มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และ 4. มหาวิทยาลัยทักษิณ ออกแบบมานั้น นอกจากครูไม่ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยทุกวันแล้ว ยังจะมีการเทียบโอนหน่วยกิตได้บางส่วนจากภาคปฏิบัติในโรงเรียนได้อีกด้วย และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจะเข้าไปนิเทศก์การสอนในพื้นที่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับครู ตชด.ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ครู ตชด. จะสามารถจบการศึกษาได้ภายใน 3 ปี ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีหลักสูตรเพื่อครู ตชด.โดยเฉพาะ คาดว่าปี 2565 จะมีครูโรงเรียน ตชด.ได้รับการศึกษาจากหลักสูตรนี้เป็นรุ่นแรก นำร่องไม่น้อยกว่า 50 แห่ง ใน 15 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เลย อุดรธานี บึงกาฬ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก สงขลา สตูล ตรัง และพัทลุง” อุดม กล่าว
สุธาสินี บุญญาพิทักษ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า การดำเนินงานจะทำคู่ขนาน นำบริบทของแต่ละโรงเรียนมาเป็นเกณฑ์หลักในการออกแบบหลักสูตร 2 ลักษณะ คือ 1. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู เหมาะกับครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านสาระเนื้อหาอยู่แล้ว แค่เติมคุณวุฒิบางส่วนให้ครูนำไปบูรณาการกับเนื้อหาที่มีอยู่โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ผ่านเครื่องมือชุดวิชา 3 ชุด ได้แก่ ชุดศาสตร์การสอนสำหรับครูเพื่อศิษย์ ชุดครูนวัตกรบนฐานชุมชนการเรียนรู้ และชุดเครื่องมือสำหรับครู 2.หลักสูตรนวัตกรรมการศึกษาตลอดชีวิตบูรณาการประถมศึกษา เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีทางการศึกษา ผลิตครู 4 ปี ผู้เรียนจะได้คุณวุฒิระดับประถมศึกษาซึ่งเป็นคุณวุฒิสำคัญต่อการพัฒนาครู ตชด. หลักสูตรนี้จะบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ด้านวิชาการที่จำเป็นต่อการเป็นครูประถมศึกษา ความรู้บริบทโรงเรียนที่ชุมชนมีความหลากหลายทั้งแง่วิถีชีวิต วัฒนธรรม และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้หลักสูตรตอบสนองความต้องการของครู ตชด. ได้อย่างเหมาะสม มีสมรรถนะและคุณวุฒิที่สามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพเป็นครูมีอาชีพได้ในอนาคต
กฤตวรรณ คำสม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาเหมือนที่ใช้สอนครูทั่วไป แต่ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ และ face to face คือ ผู้เรียนต้องเข้าพบอาจารย์ประมาณเทอมละ 2 ครั้ง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฏี รับโจทย์ไปลงพื้นที่โรงเรียน เขียนแผนจัดการเรียนรู้และใช้งานจริง บันทึกผลการปฏิบัติ แล้วมาสะท้อนผลร่วมกัน ส่วนอาจารย์จะลงพื้นที่ใช้โรงเรียนเป็นฐานจัดการเรียนการสอน ติดตาม นิเทศก์ วัดผลประเมินแบบบูรณาการตามสภาพจริง มีกิจกรรมเสริมวิชาการเพื่อเตรียมสอบใบประกอบวิชาชีพครู และจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ให้อาจารย์ไปสอนครู ตชด. จากพื้นที่ต่างๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างเครือข่ายให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่ละบริบทโรงเรียน แม้การออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับครู ตชด. จะเป็นเรื่องใหม่ แต่เชื่อว่าเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด มีอาจารย์ลงไปช่วยดู ใช้โรงเรียนและการทำงานของครู ตชด. เป็นฐานการเรียนรู้ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพครู ตชด. สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้โดยไม่ต้องทิ้งห้องเรียน