ไม่พบผลการค้นหา
จาก 3 ข้อเรียกร้อง ได้เหลือเพียง 1 ข้อ หลัง ‘กลุ่มปลดแอก’ ได้ประกาศข้อเรียกร้องใหม่แนวคิด ‘สาธารณรัฐ’ ภายใต้คอนเซป ‘RESTART THAILAND’ หรือ ‘RT MOVEMENT-ทีมข้อเดียวมูฟเมนท์’ พร้อมเปิดสัญลักษณ์คล้าย ‘ค้อน-เคียว’ ที่สื่อถึงแนวคิดคอมมิวนิสต์

ถือเป็นปรากฏการณ์ต่อสู้ครั้งใหม่ที่ ‘กลุ่มปลดแอก’ ระบุว่า ไม่มีแกนนำ ไม่ตั้งเวที ไม่มีการ์ด ไม่มีการเจรจา ไม่มีการต่อรอง มาร่วม RESTART THAILAND เพื่อสร้างสังคมที่คนเท่ากัน

ในฝั่งรัฐบาลก็ติดตามความเคลื่อนไหวนี้เช่นกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็ระบุตรงกันว่าเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ระบุเพิ่มว่าจะเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นหรือไม่ รวมทั้งย้ำว่าแนวคิดสาธารณรัฐเป็นไปไม่ได้

“บ้านเมืองเรามีกฎหมายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นใครเข้าข่ายกระทำความผิดยุยงปลุกปั่น พวกนี้จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทุกประการ ผมไม่มีความเห็น เพราะประเทศไทยไม่ใช่สาธารณรัฐ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้มี ‘สัญญาณ’ ที่กลุ่มราษฎรได้ส่งออกมาบ้างตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ในการชุมนุมเมื่อ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลัง ‘ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์’ ได้ปราศรัยบนเวทีตอนหนึ่งว่า เมื่อครั้งชุมนุมที่หน้า ร.11 ทม.รอ. ตนไม่ได้ไปร่วมเพราะไปดูว่าที่ภาคอีสานมาว่าชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วหรือยัง และจะส่ง ‘เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์’ ไปดูภาคเหนือ เพื่อดูว่าชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วหรือยังด้วย โดยขอให้รอการชุมนุมที่พี่น้องต่างจังหวัดจะเข้ามาสมทบที่กรุงเทพฯ

เยาวชนปลดแอก-คอมมิวนิสต์.jpg

อย่างไรก็ตามหากดูการชุมนุมกลุ่มราษฎร นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดพื้นที่ให้ ‘คนเสื้อแดง’ มีส่วนร่วมมากขึ้น แม้จะมี ‘วัฒนธรรมการเมือง’ แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมคือไม่เอารัฐประหารและต้องการประชาธิปไตย รวมทั้งเป็นการ ‘ขยายฐานมวลชน’ ให้มีแนวร่วมเพิ่มขึ้นด้วย ภาพที่เด่นชัดคือการชุมนุมที่ ถ.อักษะ และหน้า ร.11 ทม.รอ. หรือ ราบ 11 ที่เป็นพื้นที่สัญลักษณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดง

ย้อนกลับไปปี2557 ถ.อักษะ ถูกใช้เป็นพื้นที่การชุมนุมขอบกลุ่ม นปช. เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารและปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง คู่ขนานกับการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่ออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปูทางสู่การทำรัฐประหาร 22พ.ค. 2557 นำมาสู่การใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม

โดยการชุมนุมเมื่อวันที่ 22พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการนำโลงศพ 3 โลง ที่สื่อถึงผู้ชุมนุมแนวร่วม นปช. ที่ต้องบาดเจ็บและสูญเสีย พร้อมจัดพิธีเชิงสัญลักษณ์วางดอกไม้จันทน์และสวดมนต์ จากนั้น ‘เพนกวิน-พริษฐ์’ ได้กล่าวปราศรัยย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งที่ผ่านมา ‘เพนกวิน’ เคยกล่าวยกย่องคนเสื้อแดงคือ ‘วีรบุรุษ’ ของตนเอง และมองการต่อสู้ของคนเสื้อแดงคือแรงบันดาลใจ

เพนกวิน พริษฐ์ ม็อบ ห้าแยกลาดพร้าว คณะราษฎร ศาลรัฐธรรมนูญ นครินทร์

ทั้งนี้มีเซอร์ไพรส์คือ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ได้วิดีโอคอลพูดคุยกับผู้ชุมนุม โดยยอมรับว่า เคยมาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่ ถ.อักษะ และพื้นที่ดังกล่าวถือว่ามีประวัติศาสตร์ การชุมนุมในวันนี้ถือเป็นการหลอมรวมคนเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหว ให้เคลื่อนไหวเชื่อมโยงกับคนรุ่นปัจจุบันจนประสบความสำเร็จ

ส่วนการชุมนุมหน้า ร.11 ทม.รอ. หรือ ‘ราบ 11’ เมื่อ 29พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการ ‘ผสมผสานแนวคิด’ ของการชุมนุม ‘กลุ่มราษฎร-คนเสื้อแดง’ ได้อย่างลงตัว โดยแรกเริ่มผู้ชุมนุมได้นัดชุมนุมที่ ร.1 ทม.รอ. ก่อนที่พื้นที่หน้า ร.1 ทม.รอ. จะมีการตั้งตู้คอนเทนเนอร์-ลวดหนาม-แบริเออร์ จึงเปลี่ยนมาที่ ร.11 ทม.รอ. แทน โดยทั้ง 2 แห่งได้ถูกโอนจาก ทบ. มาเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ดังนั้นพื้นที่ของทั้ง 2 หน่วย จึงเป็นเขตพระราชฐาน การป้องกันพื้นที่จึงเหมือนกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้แกนนำกลุ่มราษฎรได้นัดรวมพลที่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยได้จุดธูปพร้อมหันหน้าไปทางวัด เพราะมีอัฐิของคณะราษฎรอยู่ในวัด เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา , จอมพล ป. พิบูลสงคราม , นายปรีดี พนมยงค์ โดยแกนนำ กล่าวว่า ขออัญเชิญดวงจิตมาเป็นศิริมงคลในการโค่นล้มศักดินา

ม็อบ 29 พ.ย. บรรยากาศราบ 11 คณะราษฎร  เป็ดเหลือง  กรมทหารราบที่11

จากนั้นได้เคลื่อนขบวนมายังหน้า ร.11 ทม.รอ. โดยจุดสำคัญอยู่ที่การปราศรัยของ ‘แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา’พยาบาลอาสาในวัดปทุมวนาราม ช่วงสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 จากนั้นตามมาด้วยการ ‘เทสีแดง’ ที่เปรียบเป็น ‘เลือดคนเสื้อแดง’ หน้า ร.11 ทม.รอ. โดยหน่วย ‘ราบ 11’ เดิมเป็นที่ตั้ง ศอฉ. ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง จนมีผู้เสียชีสิตกว่า 99 ราย

ทั้งนี้ ร.11 ทม.รอ. เคยมีอดีต ‘หัวหน้าคณะรัฐประหาร’ พักอาศัย คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผบ.ทบ.-อดีตหัวหน้า คมช. แต่ขณะนี้ได้ย้ายออกมาแล้ว โดย พล.อ.สนธิ ได้รัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19ก.ย.2549 ถือเป็นอีกจุดสำคัญในการเริ่มต้นของ ‘คนเสื้อแดง-นปช.’ ที่ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารในยุคนั้น

อีกทั้ง ‘ราบ 11’ ยังเกี่ยวข้องกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ที่สมัยปี2553 เป็น ผู้การ ร.11 รอ. (ชื่อเดิม) รวมทั้งมีปฏิบัติการยึดคืนสถานีดาวเทียมไทยคมจาก นปช. ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ติดแบลคลิสต์ของคนเสื้อแดงมาตั้งแต่นั้นมา

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการชุมนุม 2 เดือนที่ผ่านมา จะมีมวลชนคนเสื้อแดงร่วมชุมนุมมากขึ้น อีกทั้งมี ‘การ์ดคนเสื้อแดง’ มาเป็นการ์ดให้การชุมนุมกลุ่มราษฎรด้วย นำโดย ‘สมบัติ ทองย้อย’ อดีตหัวหน้าการ์ด นปช. 

จึงต้องจับตาว่าการชุมนุมครั้งต่อไป จะมี ‘ภาคเกษตรกร-แรงงาน’ มาร่วมสมทบเพิ่มขึ้นเท่าใด โดยเฉพาะการเดินทางมาจากต่างจังหวัด และจะมีการพักค้างคืนอย่างไร เพราะที่ผ่านมาการชุมนุมกลุ่มราษฎรเป็นลักษณะ ‘แฟลชม็อบ’ เป็นส่วนใหญ่ 

จึงเป็น ‘โจทย์ท้าทาย’ กลุ่มราษฎรในการ ‘ยืนระยะ’ การชุมนุมให้ได้ ในสภาวะที่ ‘องคาพยพอำนาจรัฐ’ ไม่มีท่าทีว่าจะถอยเช่นกัน ทว่าก็เป็น ‘โจทย์ยาก’ ของฝ่ายความมั่นคงเช่นกัน ในการ ‘รับมือ’ การชุมนุมที่มี ‘พัฒนาการ’ ไปเรื่อยๆเช่นนี้

หากเดินพลาดก็จะเป็น ‘เงื่อนไข-ชนวนใหม่’ ให้ฝ่ายผู้ชุมนุมทันทีด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog