เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 ธ.ค. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในเวทีเสวนา "ยกเลิก 112 สิแล้วเราจะเล่าให้ฟัง"ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ปาฐกถาพิเศษผ่านระบบระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ตนเองต่อสู้มาตลอดในประเด็นมาตรา 112 และเป็นเหยื่อมาตรา112 ซึ่งเริ่มแรกมาจากการเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายนี้จนยกระดับให้มีการยกเลิกไปเลย แต่จนถึงขณะนี้กฎหมายดังกล่าวกลับถูกนำมาใช้จัดการผู้ที่เห็นต่างอยู่ ซึ่งปัญหาของมาตรา 112 ปัญหาหลักคือการที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องเอง จึงต่างกับการหมิ่นประมาททั่วไป ดังนั้นใครก็ได้ที่สามารถไปฟ้องร้อง จึงเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเอามาตรา 112 ไปฟ้องร้องจนเลยเถิด
ปวิน ระบุว่าขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ ทำลายล้างคนอื่นและกลายเป็นวัฒนธรรมด้านการเมือง ซึ่งคนที่ฟ้องร้องมองตัวเองว่าเป็นฮีโร่และมองว่าตัวเองช่วยปกป้องสถาบัน นอกจากนี้ย้ำว่ามาตรา 112 เป็นเครื่องมือด้านการเมือง ซึ่งในต่างประเทศไม่มีการใช้กฎหมายดังกล่าว ประเทศไทยจึงไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ และไม่สามารถอ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย วันนี้จึงต้องหยุดการยังคับใช้มาตรา 112 เพราะหากถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยก็จะกลายเป็นผลทางลบและประเทศไทยถูกจับตามองอย่างมากในการใช้มาตรา 112 ในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ปวิน กล่าวด้วยว่า ขณะที่สาเหตุหลักที่ยังใช้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในปัจจุบันมองว่าเพื่อต้องการใช้ปิดปากแกนนำผู้ชุมนุมที่ขณะนี้ถูกแจ้งข้อหากันหลายราย ซึ่งตนมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการคิดสั้นและฆ่าตัวตาย เพราะไม่ได้ทำให้แกนนำหยุดแต่กลับทำให้สังคมตื่นตัวขึ้นอีกรอบ และจะมีกระแสต่อต้านการใช้กฎหมายดังกล่าวมากยิ่งขึ้น จึงควรยกเลิกกฎหมายนี้ไป
นอกจากนี้ยังมีมาตรการปราบปรามผู้เห็นต่างด้านการเมืองด้วยมาตรการใช้ความรุนแรงและการอุ้มฆ่า ถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามขอให้การต่อสู้ของทุกคนนี้ดำเนินต่อไป ซึ่งตนเชื่อว่าประชาธิปไตยต้องชนะ แต่อาจใช้เวลาและเจ็บปวดนิดหน่อย ตนขอเป็นกำลังใจให้แกนนำที่โดนมาตรา112 และผู้ชุมนุมทุกคน เชื่อว่าถ้าเราผ่านวันนี้ไปได้ ในอนาคตที่มองย้อนกลับมาเราจะภูมิใจกับสิ่งที่เราทำเพื่ออนาคตของพวกเราเอง
'ปิยบุตร' ย้ำเลิก ม.112 แนะควรฟ้องแพ่ง
จากนั้นมีการเสวนาหัวข้อ "#ยกเลิกม.112" โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำราษฎร สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำ24 มิถุนาประชาธิปไตย
โดยปิยบุตร กล่าวว่า วันนี้ตรงกับวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล และบังเอิญที่การจัดงานวันนี้ตรงกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วของการจัดเสวนาเกี่ยวกับสถาบันโดยคณะนิติราษฎร์ ซึ่งการใช้กฏหมายมาตรา112 นอกจากเรื่องสถาบันแล้วยังคุ้มครองการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และปัญหาจากการใช้มาตราดังกล่าว คือปิดปากประชาชนในการแสดงความเห็น อีกทั้งใครก็จะไปฟ้องใครก็ได้
ปิยบุตรระบุว่าเห็นได้จากล่าสุดที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกอย่างที่มีดำเนินการกับผู้ชุมนุม จากนั้นมีคนไปแจ้งความมาตรา 112 ทันที เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมจะบอกว่าไปลบหลู่สิ่งศักสิทธิ์ของเขาจึงต้องดำเนินการ แสดงว่าเมื่อผู้ควบคุมกลไกรัฐเปิดสวิตช์ให้ก็เดินตาม แต่เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยและไม่สนองตอบต่อกลไกรัฐจึงต้องใช้กฎหมายที่แรงขึ้นมาจัดการ
"ควรเลิกกฎหมายมาตรา112 และคดีหมิ่นประมาทที่ให้มีการจำคุก และควรให้คดีหมิ่นประมาทมีการฟ้องทางแพ่งเท่านั้น ไม่ควรดำเนินคดีทางอาญา เพราะเพียงการพูดหรือวิจารณ์แล้วนำคนไปเข้าคุกถือเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยแล้ว” ปิยบุตรระบุ
ด้าน พริษฐ์ กล่าวว่า การใช้มาตรา112 ไม่ใช่กฎหมายธรรมดาแต่เป็นคดีนโยบายตามนายสั่งมา ดำเนินคดีตามใบสั่งไม่ใช่ตามกระบวนการ ยอมรับว่าในอดีต มาตรา112 มีความน่ากลัว แต่ไม่ใช่เพราะตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่ผู้มีอำนาจบารมี แต่วันนี้มีคนกล้าที่จะพูดสูงขึ้น ทำให้มาตรา112 ที่จะเป็นดาบฟาดฟันคนเห็นต่างกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว และยิ่งนำมาใช้มากขึ้นประชาชนที่เห็นถึงข้อเสียจะยิ่งออกมามากขึ้นและจะเล่นเกมยาว
พริษฐ์ ระบุว่าการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา112 สืบเนื่องมาจากคณะนิติราษฎร์ ที่เคยมีข้อเสนอไว้ว่าควรแก้ไขมาตรา112 มาถึงการยกเลิกเพราะเห็นถึงปัญหาจากการใช้มาตราดังกล่าวที่จับคนโดยไม่ยุติธรรมจะทำให้การเมืองเลวร้าย
ศูนย์ทนายฯเผยหลัง 22 พ.ค. 57 คดี 112 พุ่ง 54 คดี
ขณะที่ ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวในเวทีเสวนา112 ว่า เราตั้งศูนย์ทนายความฯขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเรื่องคดีความในเรื่องเสรีภาพและการแสดงออก โดยเฉพาะคดีในมาตรา 112 ซึ่งหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นคดีที่มีการดำเนินการมากกว่าคดีอื่นๆที่เราดูแล ซึ่งมีถึง 54 คดี ซึ่งเมื่อคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาอ้างว่าเป็นคดีนโยบาย ซึ่งในจำนวนนี้มีเกือบ 10 คดีที่เป็นผู้ป่วยผิดปกติทางจิต และอีกจำนวนหนึ่ง ผู้ต้องขังต้องถูกกักขังโดยไม่มีความผิดตั้งแต่ชั้นตำรวจ ซึ่งที่สุดแล้วอัยการสั่งไม่ฟ้องแต่ต้องติดคุกฟรีไปถึง 84 วันโดยไม่ได้รับการประกันตัวเหมือนเช่นกฎหมายสากล และล่าสุดหลังจากมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีไป 24 คน 11 คดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง