ทั้งนี้ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) กับ กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.11 ทม.รอ.) ได้โอนไปเป็นหน่วยนอก ทบ. ตาม พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ทำให้ทั้ง ราบ 1 และ ราบ 11 มีสถานะเป็น ‘เขตพระราชฐาน’ ไปด้วย
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ครั้งแรกที่ปรากฏ ‘มินเนียนไปรเวท’ ออกมา โดยครั้งแรกปรากฏเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 โดยเป็นทหารจากหน่วยใน กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ที่มาพร้อมภาพ ‘ตู้คอนเทนเนอร์’ ปิดล้อมรอบถนนที่ไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำเนียบรัฐบาล และเขตพระราชฐานอื่นๆ ทำให้กลุ่มราษฎร เปลี่ยนที่ชุมนุม เป็นธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ แยกรัชโยธิน แทน
โดยก่อนการชุมนุมเพียง 2 วัน ได้มีการติดตั้งป้าย ‘เขตพระราชฐาน’ โดยรอบสำนักทรัพย์สินฯ ทำให้เป็นพื้นที่ควบคุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ห้ามชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน 150 เมตร
ย้ายกลับไปก่อนหน้านี้ ‘มินเนียนรุ่นแรก’ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 คือ ‘สวมเสื้อเหลือง-กางเกงสีดำ’ ตัดผมสั้นเกรียนที่มาอยู่โดยรอบทำเนียบฯ โดยเป็นทหาร พล.ร.9 ที่ดูแลพื้นที่ทำเนียบฯ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังทหาร พล.ร.9 ได้รับมอบหมายให้ดูแล ทำเนียบฯ ซึ่งการสวมชุดนอกเครื่องแบบ ก็เพื่อลดโทนความเป็นทหารลง
เมื่อรัฐบาลยกเลิกประกาศฯ การปรากฏตัวของ ‘มินเนียนลายพราง’ ก็ลดลงไป จนมาเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ 8 พ.ย. หลังกลุ่มราษฎรได้นัดชุมนุมและจะเคลื่อนขบวนไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อยื่น ‘ประชาสาส์น’ ถือเป็นการเดินไปเขตพระราชฐานครั้งแรกๆ โดยในพื้นที่สนามหลวง หลังแนว ตร. ได้มีการใช้ ‘ทหารนอกเครื่องแบบ’ ด้วย
โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้ชี้แจงถึงการใช้กำลังทหารอยู่หลังแนว ตร.
“การส่งกำลังทหารไม่ได้ไปในลักษณะการควบคุมฝูงชน เพราะอยู่นอกเครื่องแบบและอยู่หลังแนวตำรวจ จึงขอพูดในฐานะดูแลด้านความมั่นคง สถานการณ์เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมุ่งไปสู่พระบรมมหาราชวัง ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว ทั้งหมดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีใครรับประกันหรือรับผิดชอบได้หรือไม่ ต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น”
“เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่บริเวณหลังแนวตำรวจ เพื่อกรณีมีมวลชนหลุดแนวออกมา หรือหากมีอะไรเกิดขึ้นจะได้ช่วยตำรวจและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยไป พวกต้องการสร้างความรุนแรง ก็เข้าไปได้ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้สกรีนคน ในคลิปก็เห็นว่ามีการเตรียมสิ่งของคล้ายกับประทัด ที่มีไฟจุดแล้วขว้างข้ามรถบัส หากปาเข้าไปในศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว เกิดความเสียหายใครจะออกมารับผิดชอบ”
ซึ่งเหตุการณ์เมื่อ 8 พ.ย. 2563 ถือเป็น ‘มาตรฐาน’ ของการใช้ ‘ทหารนอกเครื่องแบบ’ ดูแลพื้นที่ ‘เขตพระราชฐาน’ โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้กล่าวถึงขอบเขตว่ายอมรับได้เท่าใด หากมีการบุกรุกพื้นที่เขตพระราชฐานในโอกาสหน้า ว่า “เขตพระราชฐาน มีลักษณะคล้ายกับบ้านเรา เราก็ไม่ต้องการให้ใครมาบุกรุก ทุกคนก็รักบ้านตัวเองและครอบครัวตัวเอง”
ต่อมา 17 พ.ย. 2563 กลุ่มมวลชนราษฎรได้นัดชุมนุมหน้ารัฐสภา โดยหน่วยทหารตรงข้ามรัฐสภา คือ ม.พัน.4 รอ. ซึ่งหน่วยดังกล่าวก็เป็น ‘ทหารคอแดง’ เช่นกัน โดยหน่วยได้ป้องกันพื้นที่ ใช้ลวดหนามกั้นแนวประตูรั้ว และกั้นด้วยรถบรรทุกทหาร ด้านหลังรถบรรทุกมีกำลังพลนั่งเป็นแถว ‘สวมเสื้อขาว-กางเกงดำ’ และสวมหมวกนิรภัยสีขาว
ต่อมาในการชุมนุมหน้า ร.11 ทม.รอ. เมื่อ 29 พ.ย. 2563 กลุ่มราษฎรได้นัดชุมนุมหน้า ร.1 ทม.รอ. ซึ่งคืนก่อนชุมนุม จนท. ได้ติดตั้งลวดหนามและตู้คอนเทรนเนอร์ ทำให้กลุ่มราษฎรเปลี่ยนมาชุมนุมหน้า ร.11 ทม.รอ. แทน ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้น มีทหารนอกเครื่องแบบ สวมเสื้อเหลือง-กางเกงสีดำ อยู่แนวรั้ว ร.11 ทม.รอ. โดยผู้ชุมนุมได้กดดันทำให้ทหารต้องกลับเข้าหน่วยไป
ซึ่งการชุมนุมหน้า ร.11 ทม.รอ. ผ่านไปด้วยดี ผู้ชุมนุมได้ทำกิจกรรมเพื่อสะท้อน ‘สัญลักษณ์ทางการเมือง’ โดยชี้ถึง พ.ร.ก.โอนหน่วยทหาร รวมทั้งอดีตของ ‘ราบ 11’ ที่เคยถูกใช้เป็นที่ตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง และเคยถูกใช้เป็นที่ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร นั่นคือ ‘รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ทำให้ ‘ราบ 11’
อีกทั้งเป็นปมในอดีตของ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ โดยในยุคนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม - พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่ง 5 เสือ ทบ. และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผู้การ ร.11 รอ.
ทำให้ ‘ราบ 11’ เป็นพื้นที่สัญลักษณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน และมาเพิ่มเติม ‘ราบ 1’ ในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นที่ตั้ง ‘บ้านพักหลวง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ และมีมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานมูลนิธิฯ ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ร.1 ทม.รอ.
ทั้งนี้การชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 ได้ปรากฏภาพ ‘ทหารนอกเครื่องแบบ’ อีกครั้ง โดยสวมชุดไปรเวทและสวมหมวกนิรภัยสีขาว โดยเป็นทหารจาก ร.1 ทม.รอ. ที่มาป้องกันหน่วยทหารเท่านั้น โดยหน้าที่การรับมือผู้ชุมนุมยังคงเป็น ตร.ควบคุมฝูงชน เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ช่วงเย็นวันที่ 28ก.พ.นั้น มีทหาร ร.1 ทม.รอ. ได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ขอความร่วมมือผู้ชุมนุมอย่าบุกรุกเข้ามาภายใน เพราะเป็นเขตพระราชฐาน ขอให้อยู่ภายนอกด้วยความสงบ” หลังผู้ชุมนุมเคลื่อนตู้คอนเทนเนอร์ รื้อลวดหนาม หน้า ร.1 ทม.รอ. โดยค่ำคืนนั้นสถานการณ์มีความตึงเครียดอยู่ตลอด
ดังนั้นการที่กลุ่มผู้ชุมนุมไปชุมนุมหน้า ‘ราบ 1 - ราบ 11’ จึงเท่ากับตอกย้ำ ‘โครงสร้างอำนาจ’ ทั้งหมดในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งทำให้สังคมถึง ‘บางอ้อ’ ในบางเรื่องโดยอัตโมมัติด้วย
‘ราบ 1 - ราบ 11’ จึงเป็นปราการสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง