กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย และภาคประชาชน จัดงานเสวนาสาธารณะ “วิกฤตศรัทธาตุลาการ กับอนาคตประเทศไทย” มีนายชํานาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย, นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง และ พันตำรวจเอกวิรุฒ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ผู้เขียนหนังสือเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ร่วมเสวนา
นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง ระบุว่าไม่ใช่เพียงตุลาการที่เผชิญหน้ากับวิกฤตศรัทธาของสังคม แต่ทั้งกระบวนการยุติธรรม กำลังอยู่ในวิกฤตนี้ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากหลายคดี การทำสำนวนคดีสะท้อนถึงความไม่เข้าใจและถูกกดดันให้ทำตามใบสั่ง รวมถึงกระบวนการที่ผ่านองค์กรอิสระ ที่รับใช้ผู้มีอำนาจ
โดยยกตัวอย่างคดี MBK39 มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นแกนนำกลุ่มกิจกรรมดังกล่าว 9 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 รายที่ไม่เกี่ยวกับกลุ่มกิจกรรมด้วยซ้ำ ได้แก่ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และนายวีระ สมความคิด ซึ่งต่างเข้าไปดูเพื่อสังเกตการณ์ก่อนถึงเวลาร่วมงาน อย่างกรณีนายวีระ ก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันนั้นเพียงแค่ว่า เขาไม่ได้เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ และวันนี้ ไม่ได้มาร่วมทำกิจกรรม มาเพื่อนให้กำลังใจน้องๆ เพียงเท่านั้น แต่นายวีระก็ถูกดำเนินคดีตาม ม.116 จากเหตุการณ์วันนั้น
ขณะที่พันตำรวจเอกวิรุฒ อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ระบุว่า กระบวนการยุติธรรมถูกสังคมมองว่ามีปัญหา โดยส่วนตัว มองว่าพรรคการเมืองขณะนี้ มองข้ามเรื่องการแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
พันตำรวจเอกวิรุฒ ระบุอีกว่า การแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาในปัจจุบันมีปัญหาอย่างหนัก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกจัดรูปแบบองค์กรแบบกองทัพ ทั้งที่เป็นการทำงานของพลเรือน การทำคดีของตำรวจก็ไม่ถูกตรวจสอบ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ การสอบสวนคดีของตำรวจและการสั่งคดีของอัยการแยกจากกัน จึงทำให้ปัจจุบันเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ถูกยกฟ้องมากถึงร้อยละ 40 ภาคการเมืองจำเป็นต้องแก้ไขในเรื่องนี้ โดยเฉพาะต้องแก้ไขกฎหมาย ให้พนักงานอัยการเข้ามามีบทบาทในชั้นสอบสวนด้วย
ด้านนายสมยศ ระบุ วิกฤตตุลาการไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เพราะมาจากการแต่งตั้ง ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน หนึ่งในแนวทางแก้ไขวิกฤตนี้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยกเลิกทั้งฉบับ รื้ออำนาจตุลาการ กำหนดให้ตุลาการมีสัดส่วนมาจากตัวแทนประชาชน อาจจะใช้โมเดลของสหรัฐอเมริกาที่อำนาจศาลจะไปเชื่อมกับประชาชนผ่านรัฐสภา นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ส.ว. 250 คนในชุดปัจจุบัน ก็ต้องถูกยกเลิกเช่นกัน เพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมือง