ไม่พบผลการค้นหา
'อัยการ' ชี้กฎหมายเปรียบเหมือนมีด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจผู้ใช้ ด้านทนายสิทธิมนุษยชน เสนอปฏิรูปกระบวนยุติธรรมทั้งระบบ ฟื้นหลักนิติรัฐ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดเวทีเสวนา 'SLAPP : เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้ปิดปากประชาชน' ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้วยวัตถุประสงค์แลกเปลี่ยนความเห็นต่อการใช้กฎหมายปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

โดยมีผู้ร่วมพูดคุย อาทิ 'พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ' เจ้าหน้าที่ฝ่ายประเทศไทยของ ARTICLE 19 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่ทำงานเพื่อปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก, 'พูนสุข พูนสุขเจริญ' ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 'ดร.มาร์ค เจริญวงศ์' อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด, นงภรณ์ รุ่งเพชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


ปรากฎการณ์ฟ้องปิดปาก

พูนสุข กล่าวถึงสถานการณฟ้องปิดปากประชาชน ภายหลังรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ว่าในประเทศไทยมักไม่ใช้คดีแพ่ง แต่เป็นการดำเนินคดีอาญาแทน ทั้งผู้ฟ้องจากภาคเอกชนหรือรัฐที่เป็นคู่กรณี

ทว่ากฎหมายที่มักถูกนำมาใช้ในยุค คสช. ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น,มาตรา 112 ,พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ โดยพูนสุขได้นำเสนอตัวเลขผู้ถูกดำเนิน คดี ม.112 ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 169 คดี และถูกดำเนินคดีในศาลทหารกว่า 2,000 คดี

"การที่เราต้องมาพูดเรื่อง SLAPP (การฟ้องคดีปิดปาก) มันได้สร้างผลกระทบทั้งต่อจิตใจและการงาน ปัจุบันเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว บางรายต้องย้ายที่เรียนใหม่ก็มี ดังนั้นการที่จะดำเนินคดีต้องมีการกลั่นกรองความเหมาะสม"

xx15.jpg

พร้อมกันนี้ พูนสุข ยังยกตัวอย่าง สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแกง ถูกดำเนินคดีเพราะโพสต์คำว่า "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ซึ่งการอ้างว่าสมบัติกระทำผิด ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่กล่าวหานั้นไม่เข้าองค์ประกอบ

อีกปรากฎการณ์ที่น่าสนใจคือการดำเนินคดีกับเยาวชน มีผู้ได้รับหมายเรียกและถูกนำดำเนินคดีตาม ม.112 จำนวน 36 คน ใน 20 คดี และมีเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี อย่างน้อย 5 ราย ถูกคดีหมิ่นสถาบันฯ 

"ตอนนี้เรายังไม่ได้อยู่ภาวะปกติ เพราะรัฐยังจับจ้องและละเมิดสิทธิเสรีภาพเราตลอดเวลา"

สำหรับข้อเสนอต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตัวแทนศูนย์ทนายสิทธิฯ ระบุว่า "ประเทศเราต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธิธรรมทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมาหลักนิติรัฐถูกทำลาย ทำยังไงให้ตำรวจมีอิสระไม่ต้องอ้างคำสั่งนาย หรือให้สิทธิอัยการสอบสวนและศาลต้องยึดโยงประชาชน ทุกวันนี้เราก็เห็นแล้วว่ามีคำพิพากษาไปในทิศทางรองรับอำนาจรัฐ"


ยิ่งรุนแรงยิ่งล้มเหลว

พิมพ์สิริ ชี้ว่า ปี 2563 ถือเป็นที่น่าสนใจต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองนับตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดงหรือ กปปส. ตามสถิต 5 เดือน มีการประท้วงร่วม 900 กิจกรรม จาก 75 จังหวัด

สะท้อนให้เห็นว่าการใช้กฎหมายของรัฐไทยนั้น ไม่สามารถหยุดการประท้วงได้ แม้ว่าจะดึงโทษที่รุนแรงมาใช้กับประชาชน พิมพ์สิริ ชี้ให้เห็นอีกว่านี่คือสมมติฐานของรัฐว่ายิ่งแรงแล้วจะสร้างความกลัวได้ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ 

"ตั้งแต่ต้นปี 2563 อย่างน้อย 200 คน ที่ถูกตั้งข้อหาจากการใช้สิทธิแสดงออกทางการเมือง ดังนั้นเราต้องทำให้ต่างประเทศเห็นว่า นี่คือวัตถุประสงค์ของรัฐไทยที่ต้องการหยุดขบวนการเคลื่อนไหวด้วยการจงใจใช้กฎหมายปิดปากประชาชน"

ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน เสนอว่าขอให้รัฐไทยหยุดดำเนินคดีคนเห็นต่าง อีกทั้งต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ม.112 - ม.116 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นประมาทต่างๆ พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดคู่มือการสลายชุมนุม เพื่อให้ผู้ชุมนุมรู้ถึงเงื่อนไข และฝากถึง กระทรวงต่างประเทศขอให้ชี้แจงตามข้อเท็จจริง เพราะมีการออกมาตอบโต้เรื่องการใช้ ม.112 ด้วยความจริงด้านเดียว เพราะมันไม่ดูดีในสายตาประชาคมโลก


กระบวนการยุติธรรมเสมือนมีด

ดร.มาร์ค ระบุถึงข้อจำกัดของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ว่ากฎหมายเปรียบเสมือนมีด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ว่าจะช่วยหรือฆ่าคน สำหรับการบังคับใช้กฎหมายนั้น ขอชี้แจงว่ากระบวนการมันมีขั้นตอนจากหลายหน่วยงาน ดังนั้นประเทศไทยเหมือนโจ๊กเละๆถ้วยหนึง ที่นำโมเดลกฎหมายต่างๆมารวมกันไว้ และส่วนตัวมองว่ากระบวนการยุติธรรมยังไม่ต้องแก้ไข แต่สิ่งสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้สิทธิให้มากที่สุด

"จริงๆ เครื่องมือทางกฎหมายเตรียมไว้ดีพอสมควรแล้ว แต่ก็มีคนตั้งคำถามกลับว่าประชาชนที่ถูกแกล้งก็ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่อย่างไรก็ตามถ้าคิดในมุมกลับถ้ารัฐแกล้ง เราก็สามารถแจ้งในชั้นอัยการเพื่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือตอบโต้การกลั่นแกล้งคืนได้เช่นกัน" 

ต่อคำถามความรุนแรงการใช้กฎหมายต่อผู้ชุมนุม เช่นกรณีผู้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมถูกดำเนินคดี ตัวแทนอัยการ เสนอแนะผู้ต้องหาว่า ถ้าผู้ต้องหาสามารถพิสูจน์พยานหลักฐานได้ว่าบริสุทธิ์จริง สามารถแจ้งขอความเป็นธรรมต่ออัยการได้

ด้าน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์ข้อความรำลึกครบรอบ 4 ปี การติดคุกคดี ม.112 กรณีแชร์ข่าวจากเพจบีบีซีไทย ว่า "ในชีวิตผมนอกจากวันเกิดที่ต้องจำ อีกวันที่ผมจะไม่ลืมคือ วันที่ 22 ธ.ค.2559 มันเป็นวันที่ผมต้องติดคุก 2 ปี 4 เดือน 18 วัน มันเป็นวันที่ผมต้องพลัดพรากจากครอบครัว คนรัก พี่น้องเพื่อนฝูงมิตรสหาย มันคือ 2 ปีกว่า ที่ต้องเหงา ต้องอดทน ต้องเก็บมันไว้คนเดียว"

"ช่วงแรกๆ ผมได้ออกศาลบ่อย ไม่ค่อยเหงาเท่าไหร่ ผมรอเวลา มา 8 เดือน เพื่อจะไปสู้คดี พอถึงวันที่พิจารณาคดี ผมก็ต้องตัดสินใจ ระหว่างรับสารภาพ กับสู้คดีต่อ ซึ่งแน่นอน ผมเลือกที่จะสู้"

"ใครหลายคนอาจเห็นว่าครอบครัวเราเข้มแข็ง แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ การตัดสินใจสู้คดีของผมทำให้ครอบครัวแตกแยก แม่กับพ่อแยกกันอยู่ น้องสาวหนีออกจากบ้าน"

"15 ส.ค. 2560 เป็นวันเกิดพ่อของผม และเป็นวันที่ผมอ่อนแอที่สุดในชีวิต ผมรับสารภาพทั้งน้ำตา ผมไม่ได้พูดว่ารับสารภาพเลย เพราะมันพูดไม่ได้ น้ำตามันไหลสะอึกจุกที่อก จนไม่สามารถพูดไรได้เลย ผมได้แต่พยักหน้า"

จตุภัทร์ ระบุว่าศาลอ้างถ้าตนรับสารภาพ จะยกโทษ 3 ปี รับสารภาพจะลดอีกกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็น 1 ปี 6 เดือน ตนจำคุกมาแล้ว 8 เดือน ก็จะเหลือ 10 เดือน ก็จะได้ออกแล้ว สุดท้ายศาลยกมา 5 ปี

"2 ปี 4 เดือน 18 วัน ที่ไม่เห็นดาวเห็นเดือน 2 ปี 4 เดือน 18 วัน ที่ไม่เคยเห็นความมืด 2 ปี 4 เดือน 18 วัน ที่ไม่เคยมีอิสรภาพ"