ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดสถิติการดำเนินคดี 112 กับประชาชนในช่วง เดือน พ.ย. 2563 - 10 เม.ย. 2566 พบตัวเลขพุ่ง 258 คดี ยังไม่มีคดีไหนที่อัยการไม่ส่งฟ้องคดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสถิติการดำเนินคดี 112 ระบุว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐในการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาบังคับใช้จัดการสถานการณ์การชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา สถิติผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นระยะ จนนับได้ว่ามากกว่ายุคก่อนๆ หน้านี้ทั้งหมด โดยตลอดสองปีครึ่งที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วมีคดีเกิดขึ้นใหม่เดือนละราว 9 คดี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 จนถึงวันที่ 10 เม.ย. 2566 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 239 คน ใน 258 คดี ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนจำนวน 18 คน โดยเป็นสถิติเท่าที่ทราบข้อมูลเท่านั้น เป็นไปได้ว่าจะมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากกว่านี้อีกด้วย

หากแยกพิจารณาเป็นรายภูมิภาคที่เกิดเหตุคดี พบว่าเกิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากที่สุด คือ 183 คดี รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 29 คดี ตามมาด้วยพื้นที่ภาคใต้ 22 คดี ภาคอีสาน 17 คดี และภาคกลาง-ตะวันออกจำนวน 7 คดี

ส่วนพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 137 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของคดีทั้งหมด

จากสถิติดังกล่าว มีคดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อศาลไปแล้วจำนวน 184 คดี โดยเท่าที่ทราบข้อมูล ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยมีเพียงกรณีของ “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหามาตรา 112 นี้ ในคดีชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 แต่ยังสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 เช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ถูกฟ้องทั้งสองข้อหา กล่าวได้ว่า แนวโน้มการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แทบจะถูกสั่งฟ้องคดีทั้งหมด

ท่ามกลาง คดีที่ถูกสั่งฟ้องดังกล่าว มีคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 52 คดี โดยแยกเป็นกรณีที่จำเลยต่อสู้คดี 33 คดี และกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพ 19 คดี โดยผลของคำพิพากษาโดยสรุป

ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำนวน 11 คดี

ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่น โดยไม่รอลงอาญา จำนวน 3 คดี

คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา จำนวน 25 คดี

คดีที่ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก 11 คดี

คดีที่ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษ 2 คดี

แนวโน้มคำพิพากษาในคดีที่เห็นว่ามีความผิด พบว่าศาลลงโทษกระทงละ 3-5 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้ว (จำนวน 25 คดี) ศาลลงโทษกระทงละ 3 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำสุดที่ตัวบทกำหนด ในส่วนคดีที่ถูกพิพากษาลงโทษมากที่สุดในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา คือคดีของ “บัสบาส” มงคล ที่จังหวัดเชียงราย ถูกพิพากษาจำคุกรวม 28 ปี จากข้อความจำนวน 14 กระทง ที่ศาลเห็นว่ามีความผิด

ในคดีส่วนใหญ่ ผู้ถูกกล่าวหายังได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา แต่ก็มีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาในคดีมาตรา 112 อยู่จำนวน 2 ราย ได้แก่ “วุฒิ” ผู้ถูกฟ้องคดีที่ศาลอาญามีนบุรี จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ และศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา และ “หยก” เยาวชนอายุ 15 ปี ผู้ต่อสู้โดยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ยังมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว รับโทษอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 3 รายด้วย

ขณะเดียวกัน ในช่วงปีนี้ นอกจากนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของศาลชั้นต้นที่ทยอยติดตามมาในทุกๆ เดือน ในบางคดี คาดว่าจะทยอยมีคำพิพากษาในระดับศาลอุทธรณ์หรือกระทั่งศาลฎีกา และอาจนำไปสู่การคุมขังเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายใดๆ ในอนาคต