ทีมฟุตบอลไทยเราก็เรียก 'ช้างศึก' ชุดประจำชาติ Miss Universe เราก็ออกแบบเป็นช้าง เรียกได้ว่าถ้างานไหนอยากสื่อเอกลักษณ์ไทยให้นานาชาติเข้าใจง่ายๆ ก็ต้องใช้ 'ช้าง' นี่แหละเป็นแอมบาสเดอร์ แน่นอนว่าถ้าสำหรับฝรั่งแล้ว ช้างย่อมดูเป็นของแปลก ขณะที่ความใกล้ชิดกันระหว่างคนกับช้างในบ้านเรา ก็สร้างความสนใจให้ชาวต่างชาติได้ไม่น้อย ในคอลัมน์ประวัติศาสตร์ปากว่างวันนี้ตรงพอดิบพอดีกับ 'วันช้างไทย' จึงจะขอรวบรวมปากคำของฝรั่งชื่อดังในประวัติศาสตร์ ที่มีความเห็นต่อ “คนสยามกับช้าง” แม้เป็นมุมมองของคนนอก แต่ก็น่าจะสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างเราและสัตว์ประจำชาติได้
ปากคำจาก “มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส” สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ถ้าใครเคยอ่านจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ที่ท่านทูตฝรั่งเศสผู้นี้เขียนขึ้น จะเห็นได้ว่าเขาเขียนถึงช้างไว้ค่อนข้างมาก ทำให้เราเห็นภาพการใช้งานช้างในสมัยกรุงศรีฯ อยู่ไม่น้อย เช่น ช้างพังนิยมใช้ในงานธรรมดา ส่วนช้างพลายใช้ออกศึกนอกจากนี้ ยังบันทึกเรื่องพละกำลัง และความดุร้าย ถึงกับจั่วหัวว่า “ช้างเป็นสัตว์ที่อันตรายมาก” แถมปรามาสไว้ด้วยว่า “ขณะที่อยู่ในประเทศสยาม ไม่เคยได้เห็นช้างทำไรที่วิเศษพิสดารให้ประจักษ์แก่ตาเลย”
แต่ถึงอย่างนั้น ลา ลูแบร์ ก็ได้บันทึกถึงวิธีการที่คนสยามปฏิบัติต่อช้างที่ดูมุ้งมิ้งอ่อนโยนมาก เช่น “ชาวสยามพูดกับช้างราวกับว่าช้างนั้นเป็นมนุษย์ เขาเชื่อว่าช้างมีความรู้สึกนึกคิดกอปรด้วยเหตุผลอันสมบูรณ์อย่างยิ่ง”
ปากคำจาก “ออกพระศักดิสงคราม” (เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์บัง) นายร้อยโทแห่งกระทรวงทหารเรือฝรั่งเศส ผู้รับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ในขณะที่ ลา ลูแบร์ บอกว่าช้างไม่เห็นจะทำอะไรวิเศษๆ แต่นายร้อยโทจากฝรั่งเศสผู้นี้ บันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุฟอร์บัง” ว่าเห็นกะตาขณะช้างอมน้ำโคลนมาพ่นใส่คนที่แกล้งมันระหว่างทางไปอาบน้ำ และยังเผยถึงการใช้งานช้างที่น่าทึ่งของคนสยาม ว่า “คนสยามใช้สัตว์โตเหล่านี้ทำงานต่างๆ มันทำงานเหมือนกันกับคนรับใช้ เช่น ให้เลี้ยงเด็ก เป็นต้น มันเอางวงอุ้มเด็กลงในเปลไกวและกล่อมเด็กจนหลับ และแม่ของเด็กต้องการอะไรก็สั่งให้ช้างไปหยิบมาได้”
ปากคำจาก “ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์” สังฆนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำประเทศสยาม สมัยรัชกาลที่ 4
ท่านผู้นี้อยู่ในสยามนานถึง 24 ปี ในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ที่ท่านเขียนขึ้นจึงเล่าอะไรหลายๆ อย่างไว้ละเอียดละออ รวมถึงเรื่องช้างด้วย ปาลเลกัวซ์บอกว่าที่ เชียงใหม่มีช้างมาก ใช้ประโยชน์แบบ All in One คือเป็นทั้งพาหนะเดินทาง ทำสงคราม ลากซุง บรรทุกของหนัก และยังบอกอีกว่า คนไทยนับถือ “ช้างเผือก” อย่างมาก โดยช้างเผือกที่ได้ขึ้นระวางจะถูกเลี้ยงดูอย่างดีในวัง อาหารเสิร์ฟมากับถาดเงินถาดทอง มีเครื่องประดับให้สวม แถมถ้าป่วยก็มีหมอมาให้การพยาบาล
แต่ชีวิตความเป็นอยู่หรูเลิศแบบนี้ดูช่างขัดกันกับช้างป่าธรรมดาๆ เพราะปาลเลกัวซ์บันทึกไว้อีกว่า “ยังมีพรานที่ใจกล้าบุกเข้าไปในป่า และใช้ปืนยิงล้มช้างเสียปีละมิใช่น้อย เพื่อที่จะเอางาเท่านั้น”
ปากคำจาก “พระสยามธุรานุรักษ์” (แอ็ม อา เดอ เกรอัง) กงสุลสยามประจำกรุงปารีส สมัยรัชกาลที่ 4
แอ็ม อา เดอ เกรอัง เดิมเป็นราชทูตที่ฝรั่งเศสส่งมาทำสนธิสัญญาพระราชไมตรีและการค้ากับไทย เมื่อปี พ.ศ. 2399 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็แต่งตั้งเป็นกงสุลสยามประจำกรุงปารีส หนังสือ “ราชอาณาจักรสยาม” ที่เขาแต่งขึ้น จึงเต็มไปด้วยข้อมูลด้านการค้าขาย
ที่น่าสนใจอยู่ตรงข้อมูลเรื่องสินค้าออกของสยามในยุคนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าของป่า รวมถึง “งาช้าง กระดูกช้าง หนังช้าง” โดย “งาช้าง” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ฝรั่งเศสนิยมอย่างมาก พร้อมให้เหตุผลว่า “งาช้างของสยามหายากเพราะมีคุณภาพดีและแข็งแรง เหนือกว่างาของอินเดีย”
นี่คือเรื่องเล่าจากปากคำฝรั่ง สะท้อนให้เห็นว่าช้างอยู่ร่วมกับทุกกิจกรรมในชีวิตคนสยาม และแม้ในอดีตจะเห็นได้ว่าช้างกลายเป็นสินค้า แต่ปัจจุบันภาพแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว ช้างในฐานะสัญลักษณ์สยามไม่จำเป็นต้องส่ง (ชิ้นส่วน) ออกไปสร้างชื่อนอกประเทศ แต่ต้องเติบโต แพร่ลูกหลานว่านเครือ เพื่อให้ทุกคนได้ชื่นชม ในฐานะสัญลักษณ์ประจำชาติที่มีชีวิต ...