ไม่พบผลการค้นหา
คนในสมัยก่อนฆ่าตัวตายด้วยการเผาตัวเอง ทำไปเพื่อศาสนา หรือบ้างก็ว่าตายเพราะโกรธผัวแทบทั้งนั้น

ข่าวการฆ่าตัวตายในช่วงนี้ ทำให้ฉันเกิดสนใจมุมมองของสังคมที่มีต่อการฆ่าตัวตายเป็นพิเศษ เพราะแม้มีหลายคนเห็นใจ แต่หลายคนกลับตีตราการตัดสินใจของผู้เสียชีวิตกันอย่างกว้างขวาง และทำให้ฉันนึกถึงเอกสารเก่าๆ ที่เคยอ่านเจอเรื่องการฆ่าตัวตายของคนในสมัยก่อน ซึ่งมักจะถูกคนในสังคม "มอง" และให้เหตุผลถึงแรงจูงใจในการฆ่าตัวตาย โดยอาศัยชุดความรู้ หรือเรื่องที่คนให้ความสนใจในสมัยนั้นเป็นตัวตั้ง


มุมมองที่แตกต่าง

ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์ของเรามีมากขึ้น สังคมก็ตระหนักเรื่องโรคซึมเศร้าและผลกระทบจากความเครียดสะสมจนกลายเป็นชุดความรู้สากล เคสการตัดสินใจจบชีวิตจำนวนมากจึงได้รับการอธิบายอย่างเข้าใจและเห็นใจด้วยเหตุผลจากโรคซึมเศร้าที่น่าเชื่อถือ แต่ในอดีตที่การแพทย์ยังรวมๆ อยู่กับเรื่องจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติ ปัญหาสุขภาพจิตและเคมีในสมองจึงไม่ใช่ชุดความรู้ในสมัยนั้น หลายครั้งการฆ่าตัวตายในบันทึกเก่าๆ จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องทางความเชื่อ หรือเพื่อเป้าหมายทางศาสนา

เช่น ในเอกสารกระแสหลักอย่าง "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2" บันทึกถึงการฆ่าตัวตายไว้ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ "นายเรือง" เผาตัวตายที่วัดอรุณฯ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 อีกครั้งคือ "นายนก" เผาตัวที่วัดอรุณฯ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทั้งสองเคสถูกบันทึกว่าเป็นไปเพื่อความต้องการบรรลุธรรม โดยในกรณีของนายเรืองนั้นขณะราดน้ำมันจุดไฟ ยังมีผู้ศรัทธาตะโกนสาธุพร้อมช่วยโยนผ้าผ่อนเข้าไปเป็นเชื้อเพลิงให้ด้วย (1) ในทางกลับกันหากมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน มุมมองเรื่องสุขภาพจิตอาจถูกนำมาพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ แทนที่จะฟันธงว่ามาจากความศรัทธาสู่มรรคผล

ขณะที่ช่วงรัชกาลที่ 4 เรื่องการเผาตัวด้วยเหตุผลทางศาสนาก็ยังเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป แม้แต่ฝรั่งที่มาอยู่ในสยาม ดังบันทึกของ "ปาลเลกัวซ์" บาทหลวงคณะมิซซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ประจำสยาม ที่เล่าว่า

"อัตวินิบาตกรรมหรือการฆ่าตัวตาย มีอยู่เป็นสิ่งธรรมดาในหมู่คนจีน ในหมู่คนไทยนั้นมีน้อย มีอยู่สองหรือสามรายเกี่ยวกับผู้คลั่งศาสนา ซึ่งเป็นอาชญากรรมทำนองโอ่อวดโดยชุบตัวด้วยน้ำมันและยางไม้แล้วเผาตัวบูชายัญตัวเอง กล่าวกันว่าเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เมื่อประมาณ 20 ปีล่วงมานี้มีเจ้าคนหนึ่งประกาศว่าจะเผาตัวเองต่อหน้าคนทั้งปวง เขาก้าวขึ้นไปบนกองฟืนจริงๆ เหมือนกัน แต่เปลวไฟลุกได้ยังไม่ทันจะท่วมตัว ก็โดดลงมาและโจนลงแม่น้ำไปเสียฉิบ..." (2)


เหตุผลที่ไม่อาจไปคิดแทน

อย่างไรก็ตาม การอัตวินิบาตกรรมด้วยเหตุผลทางศาสนานั้น จริงๆ แล้วพบการกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างน้อยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยราชทูตฝรั่งเศส "ลา ลูแบร์" บันทึกไว้อย่างน่าสนใจว่า

"ชาวชมพูทวีปทั้งปวงคิดอยู่ว่า การฆ่าตัวเองตายนั้นมิชั่วแต่เป็นสิ่งที่พึงอนุญาตให้กระทำได้ เพราะเขาเชื่อว่าเขาเป็นเจ้าของตัวของเขาเองเท่านั้น แต่หากเป็นความเสียสละอันมีประโยชน์แก่วิญญาณ ทำให้ได้บรรลุถึงซึ่งคุณธรรมชั้นสูงและความบรมสุข ด้วยประการฉะนี้ในลางครั้งจึงมีการผูกคอตายเป็นพุทธบูชากับต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเขาเรียกเป็นภาษาบาลีว่า พระศรีมหาโพธิ....

....ในลางครั้งนั้น มักจะมีสาเหตุเนื่องมาจากมีความเบื่อหน่ายในชีวิตเป็นประมาณ หรือว่าด้วยความหวาดกลัวอันใหญ่หลวง เช่นกลัวว่าจะได้รับพระราชอาญาเป็นต้น" (3)

ส่วนเรื่องการเผาตัวตาย ลา ลูแบร์บันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นก่อนหน้าเขาเดินทางมาสยามราว 6-7 ปี โดยผู้เผาตัวนั้นเป็นชาวพะโค (มอญ) ชาวบ้านนับถือการกระทำนี้มาก เมื่อสิ้นใจแล้วยังเอาปูนมาพอกร่างไหม้ไฟเป็นพิมพ์เพื่อหล่อขึ้นรูปไปบูชา แต่ลา ลูแบร์หาได้บันทึกว่าสาเหตุมาจากเรื่องทางศาสนาไม่ แต่บันทึกว่า "...มีผู้เล่ากันว่าชาวพะโคผู้นั้นมีความไม่พอใจในครอบครัวของตน..."

ภาพรวมจากบันทึกของลา ลูแบร์ ซึ่งเป็นคนนอกราชอาณาจักร จะเห็นได้ว่าเขาไม่ได้มองการฆ่าตัวตายเป็นไปเพราะเหตุผลทางศาสนาอย่างเดียว แต่ยังมี 3 เหตุผลใหญ่ๆ คือ ความกลัวภัยต่างๆ เช่น การรับพระราชอาญา, ปัญหาครอบครัว และความเบื่อหน่ายชีวิต ซึ่งความเบื่อชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้จากปัจจัยมากมายร้อยแปดทั้งเรื่องสุขภาพ หรือความยากจน


ปัจจัยจากเศรษฐกิจ?

ยังมีบันทึกเรื่องการตัดสินใจจบชีวิตของผู้คน เช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ที่เขียนไว้ในหนังสือโครงกลอนของครูเทพว่าตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2476 มีข่าวผู้ฆ่าตัวตายตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ โดยระบุเหตุผลว่า "ตายเพราะโกรธผัวแทบทั้งนั้น แต่ตายเพราะแค้นแม่ หรือเพราะรักผู้หญิงก็มี" (4)

ซึ่งการตีความข่าวบนหน้าสื่อแบบนี้อาจเป็นตัวอย่างการตัดสินเหตุแห่งการอัตวินิบาตกรรมที่ไม่ได้ครอบคลุมถึงบริบทความบีบคั้นทางสังคม เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ข่าวฆ่าตัวตายที่มีมากตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2476 สอดคล้องกับช่วงเวลาที่โลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ The Great Depression ช่วงปี พ.ศ.2472-2484 วิกฤตนี้มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ก่อนกระจายไปหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ทำให้เงินฝืดเคือง เกิดช่องว่างคนจนคนรวยมากขึ้น จนเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลยังต้องมีภารกิจแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นสำคัญ

เช่นเดียวกันกับตอนนี้ที่มีโรคระบาดจนกระทบเศรษฐกิจทุกระดับ ประกอบกับมีข่าวการตัดสินใจลาโลกบนหน้าสื่อไม่เว้นวัน การจะใช้กำปั้นทุบดินมองว่ามาจากเหตุปัจจัยเฉพาะรายบุคคล เช่น คนนั้นทะเลาะกับแฟน คนนี้ทะเลาะกับแม่ คนนี้ใจไม่สู้ ฯลฯ คงไม่ได้ เพราะปัญหาใหญ่เรื่องปากท้องสร้างความเครียดได้มหาศาล หากมีตัวกระตุ้นเพียงเล็กน้อย ก็อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายให้ตัดสินใจยุติความบีบคั้นในชีวิตได้

ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คนยังมีเงินเดือนกินอยู่อาจไม่มีวันเข้าใจ....

*****************************

อ้างอิง

(1) ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2, (พิมพ์ครั้งที่ 9), กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546, หน้าที่ 212-213.

(2) ปาลเลกัวซ์, เล่าเรื่องกรุงสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 4), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2552, หน้าที่ 142-143.

(3) เดอ ลาลูแบร์, จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548, หน้าที่ 377-378.

(4) https://vajirayana.org/โคลงกลอนของครูเทพ-เล่ม-๒/กิเลส

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog