ไม่พบผลการค้นหา
เกือบ 20 ปีแล้วสำหรับเส้นทางคุณหมอของ 'อรัณ' เด็กบ้านนอกที่ขยันเรียนเพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าที่เป็น วันนี้เขากลายเป็นคุณหมอสูติฯ ที่ถ่ายทอดสาระและช่วยให้คนนับแสนได้ตระหนักกับภัยร้ายทางระบบอวัยวะสืบพันธุ์

คุณหมอหนุ่มหน้าตาใจดี บุคลิกดูอบอุ่น เดินออกจากห้องผ่าตัด หลังเพิ่งกรีดเลาะเอาก้อนเนื้อร้ายออกจากมดลูกของคนไข้ ที่อยู่คู่ชีวิตเธอมาอย่างยาวนาน

เขาชำระคราบเลือดและสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้า และเดินกลับมาให้คำแนะนำถึงแนวทางดูแลตัวเองต่อผู้ป่วยและญาติ ก่อนพลิกปฏิทินเพื่อตรวจดูคิวและวางแผนผ่าตัดในวันถัดไป 

นี่คือกิจวัตรของ พ.ต.ท.อรัณ ไตรตานนท์ นายแพทย์ สบ 2 กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน” ที่เปี่ยมไปด้วยสาระและเสียงหัวเราะ โดยมีผู้ติดตามนับแสนคน

“ดีใจมาก จำนวนยอดวิวยอดไลก์ไม่สำคัญ สำคัญคือสิ่งที่เราทำมีประโยชน์จริงๆ กับใครสักคน เหมือนเรากำลังมืดแปดด้านแล้วมีคนมาชี้ทางสว่างให้” หมออรัณใบหน้าเปื้อนยิ้ม


ไต่เต้าจากการศึกษา

หมออรัณเป็นเด็กกำแพงเพชร เมื่อแรกเกิดเกือบทำคุณแม่เสียชีวิต เพราะน้ำหนักตัวที่มากกว่า 4 กิโลกรัมกอปรกับคุณแม่เป็นคนร่างเล็ก ทำให้การคลอดเป็นไปอย่างยากลำบาก เล่นเอาเธอเข็ดกับการมีลูก ดูได้จากการตั้งชื่อเล่นเขาว่า ‘น้องเดียว’

“ต้องใช้คีมเหล็กหนีบหัวถึงออกมาได้ กระโหลกยุบไปนิดหน่อย แม่เฉียดตายเลยครับ” เขาเล่าถึงช่วงเวลาลืมตาดูโลกของตัวเองอย่างอารมณ์ดี “อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอยากเป็นหมอสู” 

ครอบครัวของหมออรัณมีฐานะปานกลางค่อนไปทางล่าง คุณแม่ขายข้าวแกงที่ตลาดสด โชคดีได้ญาติพี่น้องที่เป็นข้าราชการครูสนับสนุนให้เรียนหนังสืออย่างเต็มที่ 

เขาเป็นคนเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ของโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ตั้งแต่ ม.5 และเริ่มมั่นใจในความรู้ความสามารถของตัวเอง คิดไปไกลกว่าแค่การเป็นครู อาชีพที่เคยปักหมุดเอาไว้

"ไม่ได้อยากเป็นหมอตั้งแต่เด็กหรอกครับ แต่ด้วยโอกาสและค่านิยมของคนในต่างจังหวัด"

แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่พอเลือกได้ แต่ด้วยสภาพทางการเงินและความสะดวกสบาย หมออรัณตัดสินใจเลือกเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับการดูแลค่าเทอมแทบทั้งหมดจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์

อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน

(เนื้องอกมดลูก ภาพจาก อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน)

ความหลงใหลในการทำงานเป็นหมอ เกิดขึ้นในช่วงปีที่ 4 ของการเรียน เมื่อได้สัมผัสประสบการณ์จริง

"เราได้ใกล้ชิดกับคนไข้อย่างมาก ได้พูดคุย ได้รับทราบถึงสิ่งที่เขาเป็นก่อนหน้าอาจารย์หมอ บางทีเขาหยุดหายใจไปแล้ว เราเป็นคนปั๊มให้เขาฟื้นขึ้นมา มันทำให้เริ่มหลงรักอาชีพนี้"

หมออรัณเป็นแพทย์ทั่วไปอยู่ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร และตัดสินใจเลือกเรียนต่อเฉพาะทางในด้านสูตินรีเวช เนื่องจากชื่นชอบการผ่าตัด และรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อได้ให้คำปรึกษากับสุภาพสตรีทุกช่วงวั��� โดยเฉพาะการได้ดูแลผู้หญิงคนหนึ่งให้มีความเป็นแม่โดยสมบูรณ์  

"ทำคลอดเด็กแล้วเห็นน้ำตาของคนเป็นแม่ มันมีแต่ความสุข” เขาเล่า “อุ้มเด็กไปให้แม่หอมแก้ม เดินไปบอกคุณพ่อที่รออยู่ข้างนอก ว่าปลอดภัยแล้วนะครับ เห็นเขาน้ำตาไหลร้องไห้ หรือกระโดดตัวลอยกรี๊ดๆ มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกเหมือนกัน"


ดูแลเหมือนเป็นญาติ

หลังเรียนจบสูตินรีเวช หมออรัณเรียนต่อในสาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช และเข้ารับราชการที่โรงพยาบาลตำรวจ ตลอด 16 ปีในเส้นทางการเป็นแพทย์ ทำคลอดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 เคส และผ่าตัดเนื้องอกไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย

เคสแรกๆ ในชีวิตที่เขาไม่มีวันลืมคือการทำคลอดท่าก้นให้กับสาวกัมพูชา

“คลอดท่าก้น ถือเป็นความวิกฤตสูงมากเพราะปัญหาคือเด็กคลอดขา คลอดตัว คลอดแขน แต่หัวจะไม่คลอด เหมือนกับถูกแขวนคอไว้ ยิ่งปล่อยไว้นานแม่จะเสียเลือดไปเรื่อยๆ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

“ตอนนั้นผมอายุแค่ 24 ปี จบปีแรก เจอเด็กตัวใหญ่ 4 กิโลกว่า ขาโก่ง ออกมาก่อน 2 ขา มีครูพยาบาลมาช่วยเต็มที่ นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ใช้ทุกวิธีที่เขาสอนมา ก็ภูมิใจมากที่ทำให้คุณแม่และลูกกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย”

หลักการทำงานที่คุณหมอวัย 40 ปีรายนี้ยึดถือคือ ดูแลคนไข้เสมือนเป็นญาติ

“ผมได้มาจากครูบาอาจารย์ ดูแลคนไข้เหมือนเป็นญาติเรา แค่นี้เอง ยึดหลักนี้ไว้ ถ้าคนตรงหน้าเป็นแม่เราจะทำยังไงกับเขา แล้วสิ่งที่ได้มันจะดีที่สุด ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นข่าวร้ายก็ตาม”


อรัณ ไตรตานนท์

หมอนอกโรงพยาบาล

ยุคนี้บทบาทของหมอไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โรงพยาบาลอีกแล้ว

เฟซบุ๊กเพจ “อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน” ที่มีผู้ติดตามนับแสนราย หยิบเรื่องราวและสถานการณ์ในห้องผ่าตัดมาบอกเล่าผ่านข้อความสนุกสนาน มีสาระ เชื่อมโยงและเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัว

จุดเริ่มเต้นของเพจเกิดจากคำแนะนำของคนไข้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์

“เขาบอกหมออธิบายแล้วเข้าใจง่าย คุยด้วยแล้วอุ่นใจ ยิ้มตลอดเวลา น่าจะเปิดเพจเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน เขาก็พยายามพูดข้อดีของผม แต่ข้อเสียไม่ได้พูด” คุณหมอเล่าปนเสียงหัวเราะ

“ผมชอบเรื่องเล่าอยู่แล้ว แต่ละเรื่องที่เขียน จะขออนุญาตคนไข้ก่อน เคสต่างๆ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่เป็นเหตุการณ์เมื่อ 2-3 ปีก่อน บางเรื่องน่าสนใจมากแต่เขาไม่อนุญาตให้แชร์ก็มี”

หมออรัณขีดๆ เขียนได้สักระยะ ก็เริ่มมีเพจดังแชร์จนได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

“ดีใจมาก จำนวนยอดวิวไลก์ไม่สำคัญ สำคัญคือสิ่งที่เราทำมีประโยชน์จริงๆ กับใครสักคน เหมือนวันหนึ่งเรากำลังมืดแปดด้านแล้วมีคนมาชี้ทางสว่างให้ เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” เขายิ้มกว้าง

“มันยังเป็นคอมมูนิตี้ให้ทุกคนได้เข้ามาแชร์ประสบการณ์และช่วยหาทางออกให้กันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ช่วยดึงคนไข้ออกจากศาสตร์มืดได้ด้วย”


69653456_426788454608560_5116524742211272704_n.jpg

นิสัยส่วนตัวที่ค่อนข้างอารมณ์ดีและความเป็นเด็กต่างจังหวัด กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณหมอสามารถสื่อสาร หยิบจับเรื่องราวในกระแสสังคมมาเชื่อมโยงและถ่ายทอดได้อย่างเป็นกันเอง ภายใต้จริยธรรมและมารยาทในวิชาชีพแพทย์

“ในเฟซบุ๊กอาจดูตลกๆ แต่การรักษาจริงค่อนข้างเข้มงวดครับ บางคนบอกเราดุ เราเป็นผู้ชายไปตรวจผู้หญิง ถ้าทำอะไรที่ตลกๆ ขำๆ คงไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม เป็นเรื่องละเอียดอ่อน” คุณหมออธิบายถึงการทำงานจริงที่แตกต่างจากการแสดงออกในเฟซบุ๊ก


66720727_402579787029427_5893394677205303296_n.jpg

(ภาพจาก อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน)


อย่าอาย - ความไม่รู้คือโรคร้าย

ความอายเป็นเรื่องสำคัญของผู้หญิงและวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีผลให้หลายคนไม่กล้าเข้ามาตรวจหาความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์

ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พบว่า อันดับ 1 ของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี คือ มะเร็งปากมดลูก ปี 2561 ไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 8,600 คน หรือในทุกๆ วันจะมีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 24 คน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตสตรีไทยเฉลี่ยถึงวันละ 14 คน

“อวัยวะเพศของผู้หญิง มีโอกาสเกิดเป็น 100 โรค และบางอย่างมีความซับซ้อน ถ้าเป็นฝรั่งเขาไม่อายที่จะเข้ามาตรวจร่างกาย แต่บ้านเรามักมาตอนมีปัญหา เลือดไหล พบก้อนเนื้อ หรือในระยะที่เริ่มแพร่กระจายไปแล้ว” หมออรัณกล่าว ยังมีความผิดปกติต่างๆ ที่ผู้หญิงควรเข้ามาตรวจเพื่อจัดการปัญหาโดยเร็ว อาทิ โรคถุงน้ำรังไข่หรือช็อกโกแลตซีสต์ และเนื้องอกภายในอวัยวะสืบพันธุ์

“หลายคนชอบพูดว่ารู้งี้มาตั้งนานแล้ว ซึ่งเสียโอกาสไปมาก” คุณหมออรัณเรียกร้องให้ทุกคนเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะการตรวจภายใน เพราะความไม่รู้อาจกลายเป็นโรคที่น่ากลัวที่สุด


64205172_387480195206053_3901466051652616192_n.jpgอรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงานอรัณ ไตรตานนท์อรัณ ไตรตานนท์


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog