ในการแถลงข่าวหลังการเลือกตั้ง ปูตินระบุว่าผลลัพธ์การเลือกตั้งอย่างถล่มทลายที่มีต่อเขา นับเป็นเครื่องพิสูจน์การตัดสินใจของตัวเขาเอง ที่จะเดินหน้าท้าทายชาติตะวันตกและการรุกรานยูเครนต่อไป
“ไม่ว่าพวกเขาจะต้องการข่มขู่เรามากเพียงใด ไม่ว่าใครหรือพวกเขาต้องการปราบปรามเรา ความตั้งใจของเรา และจิตสำนึกของเราก็ตาม ไม่มีใครประสบความสำเร็จในเรื่องแบบนี้ในประวัติศาสตร์” ปูตินกล่าวในคำปราศรัยจากสำนักงานใหญ่หาเสียงของเขาในช่วงเช้าวันจันทร์ (18 มี.ค.) “มันไม่ได้ผลในตอนนี้และจะไม่ได้ผลในอนาคต ไม่เคย" ปูตินกล่าวโดยไม่ระบุว่าเขาหมายถึงใคร
คูหาเลือกตั้งรัสเซียปิดลงเมื่อช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 มี.ค.) ก่อนที่ผลการรับคะแนนจะออกมาตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ คือ ปูตินสามารถคว้าชัยชนะและเดินหน้าการเป็นประธานาธิบดีรัสเซียได้ต่อไปอีก 6 ปี หลังจากเขาแก้กฎหมายให้ประธานาธิบดีรัสเซียสามารถดำรงตำแหน่งได้ติดต่อกันโดยไม่จำกัดสมัย
จากข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของรัสเซีย ปูตินได้รับคะแนนเสียงประมาณ 87% โดยคิดเป็น 60% จากคะแนนที่นับไปทั้งหมด โดยผลการเลือกตั้งดังจะทำให้ปูตินในวัย 71 ปี เตรียมปกครองรัสเซียยาวนานแซงหน้า โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนสำคัญ และกลายเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของรัสเซียในรอบกว่า 200 ปี
ในทางตรงกันข้าม นิโคไล คาริโตนอฟ ผู้สมัครจากพรรคคอมมิวนิสต์ สามารถคว้าคะแนนเสียงมาเป็นอันดับสองด้วยคะแนนไม่ถึง 4% พร้อมกันนี้ วลาดิสลาฟ ดาวานคอฟ ผู้สมัครหน้าใหม่อีกรายสามารถคว้าคะแนนไปได้ในอันดับสาม และ เลโอนิด สลุตสกี ผู้สมัครที่มีอุดมการณ์คลั่งชาติรัสเซียสุดโต่งสามารถคว้าคะแนนไปได้ในอันดับสี่
เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งรัสเซียระบุว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการปิดคูหาเลือกตั้ง มีจำนวนชาวผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทั่วประเทศรัสเซียมีอยู่ที่ 74.22% ซึ่งเป็นอัตราผู้มาใช้สิทธิเกินระดับสูงสุดเดิมเมื่อปี 2561 ที่ 67.5%
ปูตินสามารถคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งโดยไม่พบกับอุปสรรคใดๆ เนื่องจากนักวิจารณ์ต่อตัวเขาส่วนใหญ่ถูกจำคุก ถูกเนรเทศ หรือเสียชีวิต ในขณะที่ทางการรัสเซียสั่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะ ต่อการความเป็นผู้นำของปูติน ยิ่งไปกว่านั้นในก่อนหน้านี้ อเล็กเซย์ นาวาลนี คู่แข่งฝ่ายค้านที่โดดเด่นที่สุดของรัสเซีย และเป็นศัตรูคนสำคัญของปูติน ถูกพบเสียชีวิตในเรือนจำอาร์กติกเมื่อเดือนที่แล้ว
ปูตินเคยเป็นอดีตพันโทในหน่วยเคจีบี หรือคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยสายลับของสหภาพโซเวียต ทั้งนี้ เขาขึ้นสู่อำนาจการปกครองรัสเซียเป็นครั้งแรกในปี 2542 พร้อมกันกับแนวนโยบายการเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก และแสดงความเด็ดเดี่ยวของรัสเซียในความคิดของปูตินเอง
ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ ระบุว่าการเลือกตั้งของรัสเซียในครั้งนี้ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม “เห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งไม่เสรีและไม่เป็นธรรม เมื่อพิจารณาว่าปูตินกักขังฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างไร” โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ระบุ
เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวบนโพสต์ X ว่าการลงคะแนนเสียงของรัสเซียในครั้งนี้นั้น “ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม” ในอีกด้านหนึ่ง โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวต่อการเลือกตั้งรัสเซียในครั้งนี้ว่า “การฉ้อโกงการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรมและไม่สามารถมีความชอบธรรมใดๆ ได้”
การเลือกตั้งรัสเซียในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเวลานานกว่า 2 ปีของการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบภายใต้คำสั่งการของปูติน ซึ่งเริ่มต้นปฏิบัติการเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สงครามยูเครนนับเป็นความขัดแย้งที่ร้ายแรงที่สุดของยุโรปเท่าที่เคยเกิดขึ้นมา ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประชาชนผู้ต่อต้านปูตินหลายพันคนได้จัดการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีรัสเซีย แม้จะไม่มีตัวเลขยืนยันได้ว่าประชาชนรัสเซียจำนวน 114 ล้านคนมีแนวคิดต่อต้านปูตินมากน้อยเพียงใดก็ตาม
ปูตินเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีครั้งแรก เมื่อ บอริส เยลต์ซิน อดีตประธานาธิบดีรัสเซียคนแรกภายหลังจากระบอบคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตล่มสลายลง ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง แต่หลังจากนั้น ปูตินสามารถคว้าชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในเดือน มี.ค. 2543 และสมัยที่สองในปี 2547
หลังจากคุมตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียได้ 2 วาระ ปูตินเปลี่ยนสลับตัวเขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรัสเซียในปี 2551 เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญรัสเซีย ที่ห้ามไม่ให้มีผู้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐมากกว่า 2 สมัยติดต่อกัน ต่อมาปูตินกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในวาระที่สามเมื่อปี 2555 และชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 4 ในปี 2561
ที่มา: