ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรนักศึกษา ธรรมศาสตร์ จัดว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.โชว์วิสัยทัศน์ 'ชัชชาติ' ดันคนรุ่นใหม่มีพื้นที่ ศก.-เปลี่ยนแนวคิดข้าราชการให้ทำงานบนโจทย์ของประชาชน- 'สุชัชวีร์' ดันอินเทอร์เน็ตฟรีทั่วกรุง เน้นระบบสาธารณสุขสู้โควิด ด้าน 'วิโรจน์' ชูคนเมืองเท่ากัน-เปิดสัญญาณรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อสาธารณะ 'รสนา' ย้ำเมืองเสรีภาพ-อาสาเป็แม่บ้านกทม. - 'ประยูร' ขอเป็นผู้ว่าฯ 24 ชม.

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 19 มี.ค. 2565 ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนา 'BKK Moves Forward - กรุงเทพฯ รุ่นใหม่' จัดโดย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยเปิดโอกาสให้ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แสดงวิสัยทัศน์คนละ 5 นาที พร้อมทั้งตอบคำถามสดที่ส่งมาจากประชาชนทางบ้าน คนละ 3 นาที 

'ชัชชาติ' ให้คนรุ่นใหม่มีที่ยืนด้านเศรษฐกิจ

ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ระบุว่า แนวนโยบายต้องให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ต้องหาเลี้ยงชาว กทม.ในอนาคต ความต้องการของคนกลุ่มนี้คือ ต้องการให้มีผู้รับฟัง แต่ไม่เคยได้รับการสะท้อนหรือตอบสนองต่อปัญหาจากภาครัฐ ผู้บริหารต้องสร้างพื้นที่รับฟังเสียงคนรุ่นใหม่ทุกเดือน ไม่ใช่ 4 ปีเลือกครั้งหนึ่ง ต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาไม่ใช่ว่าหูทวนลม ต้องดูแลคุณภาพชีวิต เพิ่มพื้นที่สีเขียวกระจายไปทุกชุมชน สร้างพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ดูแลเศรษฐกิจ สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นใหม่มีที่ยืนด้านเศรษฐกิจ สิ่งนี้จะตอบโจทย์ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองของคนรุ่นใหม่ และเป็นเมืองที่มีความหวังได้ 

ชัชชาติ วิโรจน์ -A223-483A-A35E-60313DFEAE65.jpeg

'สุขัชวีร์' ดันอินเทอร์เน็ตฟรีทุกพื้นที่ กทม. 

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรุ่งนี้ตนจะเดินทั่วครบ 50 เขตตั้งแต่ประกาศตัวเป็นผู้สมัครมา แต่ละเขตมีปัญหาซับซ้อนแตกต่างกันไป แต่ทุกปัญหาหนักและซับซ้อนกว่าที่ตนคิด โดยตนและทีมงานได้นำมาสกัดเป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริง การจะเปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯได้ ต้องเน้นเรื่องปากท้อง การทำมาหากิน เรื่องการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง นโยบายที่ทุกคนจะต้องได้คืออินเทอร์เน็ตในทุกที่ในกรุงเทพฯ ต้องฟรี เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นรากฐานสำคัญของการเข้าถึงและแก้ไขปัญหา วันนี้ตนไม่ได้มาคนเดียว แต่ยังมีทีมงานอีกกว่า 50 คนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมาช่วยเหลือกัน ปัญหาต่างๆที่คนเจอยิ่งทำให้มั่นใจว่า เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้ 

สุชัชวีร์ 17-5828C17C268F.jpegวิโรจน์ -97CC-4278-8B8B-FCF31CA14CB4.jpeg

'วิโรจน์' ย้ำเมืองที่คนเท่ากัน 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ต้องการเห็นเมืองที่คนเท่ากัน เพื่อให้ปัญหาของแต่ละคนได้รับการเยียวยาอย่างเท่ากัน หากเมืองมองคนไม่เท่ากัน ปัญหาของนายทุนก็จะได้รับการบริการอย่างดี ขณะที่คนทั่วไปก็ได้แต่อ้อนวอนร้องขอ โอกาสเติบโตของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากันอีก เมืองที่มีความหวังต้องเริ่มต้นจากมองคนเท่ากันให้ได้เสียก่อน ต้องคืนความเป็นธรรมให้กับเมือง และคืนเมืองที่เป็นธรรมให้กับคนด้วย ไม่เช่นนั้นจะบริหารไม่ได้ ปัญหาเรื่องส่วย คือความท้อแท้ของคนกรุงเทพ และทำให้เกิดความสิ้นหวัง 

วิโรจน์ ระบุว่า จึงต้องแก้ปัญหาจุดนี้ก่อน เราต้องเริ่มจากการมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับอย่างมาตรฐานเท่ากัน คนตัวเล็กตัวใหญ่อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และมั่นใจว่าล้มแล้วสามารถลุกขึ้นได้ โยกงบจากส่วนราชการเพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา เรียกความเชื่อมั่นของประชากร และมุ่งเพิ่มสวัสดิการให้มากขึ้น เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้คนกลุ่มเปราะบาง เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนเพราะการใช้จ่าย และต้องเป็นเมืองที่คนรุ่นใหม่สามารถตั้งตัวได้ 

รสนา A-1F200193AD3D.jpeg

'รสนา' ชูเมืองที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว 

ด้านรสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ยกคำพูดของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง คุณภาพแห่งชีวิตปฏิทินแห่งความหวัง ซึ่งต้องเริ่มต้นจากครรภ์มารดาไปจนถึงเชิงตะกอน ตนจึงตั้งใจจะทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว สร้าง City Hall เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนปัญหาสำหรับประชาชนคนรุ่นใหม่ทุกระดับ และจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ ตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนคนตัวเล็กตัวน้อย ได้ลืมตาอ้าปากและลดภาระหนี้สิน เพราะพวกเขาเหล่านี้เป็นตัวแสดงที่สำคัญในทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ใกล้เคียงกับประชาธิปไตยทางตรงมากที่สุด ประชาชนจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมของกรุงเทพฯ เพราะผู้ว่า กทม. ไม่อาจรู้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ประชาชนรู้ 

ประยูร -1BA7-4A0C-B7F0-5D76F5D2A2F7.jpeg

'ประยูร' ขอโอกาสอดีตข้าราชการประจำ 

ด้าน ประยูร ครองยศ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ระบุว่า ตนเป็นลูกหม้อ กทม. ขนานแท้ ทำงานมาตั้งแต่ปี 2523 คน กทม.ได้ให้โอกาสนักการเมืองที่มีชื่อเสียงมาเป็นผู้ว่าก็หลายรอบ ผลงานก็ได้เป็นอย่างที่ประจักษ์ ผู้มีชื่อเสียง สร้างภาพ ขายฝัน ทุนหนาได้รับโอกาส พอครบ 4 ปี เมกะโปรเจคบางครั้งก็ไม่สำเร็จ ถึงเวลาของข้าราชการประจำได้เข้ามามีบทบาทในด้านนี้บ้าง ตนอยากเห็นพี่น้องประชาชนได้กินอิ่มนอนหลับ ขยับเพลิน ด้วยความปลอดภัยในชีวิต ผู้ว่าฯ กทม. นอกจากมีความรู้ความสามารถ ต้องมีคุณธรรมและหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารงานด้วย 

ในช่วงท้ายมีคำถามเกี่ยวกับถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งแรกที่จะทำ โดย ประยูร กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะทำคือ ต้องกราบขอบคุณพี่น้องประชาชน และให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ติดดิน ขวัญใจคนจน ประชาชนคือนาย เป็นผู้ว่าฯ 24 ชั่วโมง อะไรก็ตามที่รับปากไว้แล้วจะไม่ลืมคำสัญญานั้น จะคงรักษาความใกล้ชิดกับประชาชน ไม่เฉพาะช่วงหาเสียง แต่ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งจะไม่ชักสีหน้า ไม่เดินหนี จะไม่บอกให้ประชาชนไปปลูกบ้านบนดอย หรือที่ไหนก็ตาม ต้นมาจากชนชั้นรากหญ้า จึงจะให้ความสำคัญกับทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพ ภายใต้สโลแกน 'เข้าใจคนทำงาน ชาวบ้านเข้าถึง เป็นที่พึ่งของประชาชนทุกสาขาอาชีพ' 

โดย ชัชชาติ มองว่า สิ่งสำคัญที่สุดของ กทม. คือข้าราชการกว่า 8 หมื่นคน ถือเป็นกำลังสำคัญที่สุดที่จะต้องดูแล สิ่งแรกที่ทำคือต้องเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการลูกจ้างให้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะที่ผ่านมาข้าราชการเอาผู้ว่าเป็นที่ตั้ง คือทำตามคำสั่ง ตอนนี้ความจริงควรต้องเอาประชาชนมาเป็นโจทย์ใหญ่ สำหรับการแก้ปัญหา สิ่งนี้สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องมีงบประมาณ การบริการประชาชนอยากเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้มีความโปร่งใส ไม่มีการเรียกส่วย สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องของบประมาณ หรือเปลี่ยนโครงการ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยของทางม้าลาย ทางเดินเท้า ทางจราจรต่างๆ สามารถทำได้ตั้งแต่วันแรก หากเราเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการ 

วิโรจน์ ระบุว่า สิ่งที่ทำได้ภายใน 1 ชั่วโมงคือ เอากุญแจเซฟเพื่อไปเปิดเอาบันทึกการประชุมและร่างสัญญาต่ออายุสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้าสายสีเขียว มาเปิดให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะหากความลับเรื่องนี้ไม่ถูกเปิดเผย แนวคิดตั๋วร่วมจะไม่มีทางเกิด อีกปัญหาคือไซต์ก่อสร้างต่างๆ ที่เลยกำหนดอายุสัญญาแล้ว เช่น ทางเท้า อุโมงค์ ถนน การขุดลอกคูคลองต่างๆ ต้องลงลึกเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมถึงล่าช้า และจะเสร็จเมื่อไหร่ ต้องมีกำหนดเสร็จไม่ใช่ปรับเลื่อนไปเรื่อย ผู้ว่าฯ กทม. ต้องกล้าหาญที่จะปรับทำงานอย่างตรงไปตรงมาเพื่อคืนพื้นที่จราจรให้กับคนกรุงเทพฯ ให้เร็วที่สุด 

พิธา -4039-88B6-700F9C4B40E1.jpegชัชชาติ -BAF6-4AF9-8F42-2B84ACF5B411.jpegสุชัชวีร์ ชัชชาติ ผู้ว่า กทม -8DE4-4C22-A1E9-4CA9286E17D1.jpeg

สุชัชวีร์ ย้ำว่า 'ชีวิต' คือสิ่งสำคัญที่สุด และควรจะทำเป็นสิ่งแรก เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ตนเห็นคนตายต่อหน้าต่อตาในชุมชน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เห็นแม่ที่มีลูกติดโควิด-19 ร้องไห้ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้น สิ่งแรกที่จะทำคือต่อสู้กับโควิด-19 อย่างเข้มแข็งที่สุดไปพร้อมกับประชาชน โดยหัวใจคือการจัดวางโครงสร้างระบบในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขหลังติดโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า ระบบล้มเหลวจริงๆ หากเราจัดการกับโควิด-19 ได้ ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะมันเป็นภัยต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดของมนุษยชาติ พี่ถึงเป็นงานแรกที่ตนจะทำ 

รสนา ตอบว่า ต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับข้าราชการของ กทม. ว่าเราเป็นทีมแม่บ้าน และหากตนได้รับเลือก ก็จะเป็นหัวหน้าแม่บ้านที่ทำงานร่วมกันเพื่อรับใช้คนกรุงเทพฯ แล้วจะทำให้ภาคประชาสังคมทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งการเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. เป็นช่วงหน้าฝนซึ่งจะมีปัญหาน้ำท่วมตามมา จึงควรสำรวจว่าจะแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างไร กทม. ต้องสแกนปัญหาของแต่ละเขตว่าสิ่งใดสำคัญและต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน หากข้าราชการมีการกระจายอำนาจ และได้รับการสนับสนุนได้แต่ละเขต การแก้ไขปัญหาก็จะทันท่วงที ไม่ต้องมารองบประมาณอย่างเดียว